Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานของโรงเรียนวิถีพุทธในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย คุณลักษณะทางคุณธรรมจริยธรรมในตัวนักเรียน และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียน 9 โรง นักเรียน 500 คน ผู้บริหารและครู 18 คน ในปี 2557 ผลการวิจัยพบว่า สภาพการดำเนินงานของโรงเรียนอยู่ในระดับดี ในแง่คุณลักษณะเชิงคุณธรรมจริยธรรมสี่ด้าน ได้แก่ ด้านกาย สังคม จิต และปัญญา นักเรียนคิดว่าตนมีคุณลักษณะทั้งสี่ด้านในระดับสูง ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน ได้แก่ ปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนและนักเรียนกับนักเรียน การจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนามาเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียน การจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ หลักสูตรที่ใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักตนเองและอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ครูทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิถีพุทธ การมีส่วนร่วมของบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ระบบนิเทศตรวจสอบและประมวลผลอย่างต่อเนื่อง ห้องเรียนและอาคารเรียนมีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ และครูมีพรหมวิหารธรรม ส่วนปัญหา อุปสรรคของการพัฒนาลักษณะเชิงคุณธรรมจริยธรรม ได้แก่ สภาพแวดล้อมของนักเรียนบางคนไม่เอื้อ มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารบ่อย ครูส่วนหนึ่งไม่เข้าใจแนวทางของโรงเรียนวิถีพุทธ ครูมีภาระงานมาก หลักสูตรยังไม่บูรณาการแนวคิดวิถีพุทธอย่างเพียงพอและยังไม่เชื่อมโยงกับวิถีในชุมชน ครูไม่อาจทำแผนการเรียนการสอนที่สอดแทรกเนื้อหาวิถีพุทธได้ในทุกรายวิชา โรงเรียนยังขาดเกณฑ์การประเมินผลที่ชัดเจน ส่วนค่านิยมสมัยใหม่ที่เน้นวัตถุนิยม วิถีชีวิตแบบเมือง อิทธิพลทางลบของสื่อ และการขาดความร่วมมือจากผู้ปกครอง เป็นอุปสรรคจากภายนอกโรงเรียน การแก้ไขปัญหาอุปสรรคเหล่านี้จะช่วยให้ปัจจัยที่สำคัญส่งผลต่อคุณธรรมของนักเรียนได้ดีขึ้น
Publisher
Faculty of Education, Chulalongkorn University
DOI
10.58837/CHULA.EDUCU.44.3.9
First Page
131
Last Page
143
Recommended Citation
พระครูพิพัฒน์ศีลาจาร; อัครนิธิ, อัครา; and จันทวานิช, สุภางค์
(2016)
"พัฒนาการทางคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนวิถีพุทธในเขตภาคเหนือตอนบน,"
Journal of Education Studies: Vol. 44:
Iss.
3, Article 9.
DOI: 10.58837/CHULA.EDUCU.44.3.9
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/educujournal/vol44/iss3/9