Abstract
การจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาเป็นการศึกษาระดับพื้นฐานที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและวิถีปฏิบัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทยโดยมีเป้าหมายคือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนสามารถรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในได้เป็นอย่างดี ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม โดยยึดหลักทางสายกลาง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยมีเงื่อนไขพื้นฐาน2 ส่วน คือ ความรู้และคุณธรรม ซึ่งเป็นสาระที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้เพื่อเป็นเครื่องมือหรือทักษะที่สามารถนำไปใช้พัฒนาสมรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์อื่น ๆ ได้อีกต่อไป ดังนั้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติที่สามารถช่วยให้เด็ก และเยาวชนผู้เป็นพลเมืองของประเทศสามารถพัฒนาคุณสมบัติอันพึงประสงค์ที่เป็นเป้าหมายของการศึกษาตามที่ได้กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 จากความสำคัญดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนระดับประถมศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในองค์ประกอบของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เห็นความสำคัญและคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เห็นแนวทางในการนำไปใช้ในบริบทของตนเอง รวมถึงในการน้อมนำหลักปรัชญามาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยสอดแทรกและผสมผสานในกิจกรรมการเรียนการสอน และกิจกรรมพัฒนานักเรียน อันส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการฝึกฝนการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เรียนรู้การรู้จักพึ่งตนเอง รู้จักคิด รู้จักวางแผน และการปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนและสังคม
Publisher
Faculty of Education, Chulalongkorn University
DOI
10.58837/CHULA.EDUCU.45.2.12
First Page
182
Last Page
194
Recommended Citation
รอดเคราะห์, พรพิมล
(2017)
"การพัฒนาผู้เรียนระดับประถมศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง,"
Journal of Education Studies: Vol. 45:
Iss.
2, Article 12.
DOI: 10.58837/CHULA.EDUCU.45.2.12
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/educujournal/vol45/iss2/12