Abstract
การประถมศึกษาเป็นระดับการศึกษาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดีมีศักยภาพสำหรับอนาคต การจัดการเรียนรู้ระดับนี้จึงเป็นไปอย่างบูรณาการเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถ เจตคติ คุณลักษณะ และพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้เรียนที่จะเรียนรู้ต่อไปในระดับที่สูงขึ้น และเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาตามหลักการและเหตุผลของการจัดการประถมศึกษาในระดับสากลมีความชัดเจนในระยะเวลากว่า 40 ปี นับตั้งแต่มีการใช้หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 ระยะหลังซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรโดยเน้นจัดการเรียนการสอนตามกลุ่มสาระ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ปรัชญาแนวคิดและหลักการทางการประถมศึกษาจึงมีความคลาดเคลื่อนไป ส่งผลต่อสถาบันผลิตครู และหน่วยงานใช้ครูที่ละเลยความสำคัญของการฝึกหัดครูประถมศึกษาเพื่อสอนในโรงเรียนประถมศึกษา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้ที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตและพัฒนาครูประถมศึกษามากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นได้จากการกำหนดกรอบอัตราบรรจุครูสาขาการประถมศึกษา และสถาบันครุศึกษาได้เปิดสอนในหลักสูตรดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จึงถึงเวลาที่นักการประถมศึกษาจะต้องร่วมกันพัฒนาผู้เรียนทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และการก้าวสู่ประเทศไทยยุค 4.0 ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือการรังสรรค์การเรียนรู้และการดำรงชีวิต บุคคลสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือครูประถมศึกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการออกแบบการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยใช้ความรู้ในศาสตร์การสอนประถมศึกษาเป็นพื้นฐานของการคิดและตัดสินใจ ในการจัดการเรียนรู้เพื่อบรรลุตามความมุ่งหวัง และพันธกิจ กระบวนการออกแบบเชิงระบบ ซึ่งประกอบด้วยขั้นวิเคราะห์ ขั้นออกแบบ ขั้นพัฒนา ขั้นนำไปใช้ และขั้นประเมิน เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้เกิดรูปแบบวิธีสอนที่มีประสิทธิภาพ เกิดหน่วยการเรียนรู้ที่ครบวงจรซึ่งมีคุณภาพ สำหรับนำไปใช้พัฒนาและยกระดับคุณภาพผู้เรียน เป็นนวัตกรรมในชั้นเรียนของครูประถมศึกษา และสามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้สู่สังคม
Publisher
Faculty of Education, Chulalongkorn University
DOI
10.58837/CHULA.EDUCU.45.2.11
First Page
170
Last Page
181
Recommended Citation
กิจรุ่งเรือง, ปรณัฐ
(2017)
"การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ผ่านกระบวนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของครูประถมศึกษา: แนวคิดสู่การปฏิบัติในบริบทโรงเรียนของประเทศไทย,"
Journal of Education Studies: Vol. 45:
Iss.
2, Article 11.
DOI: 10.58837/CHULA.EDUCU.45.2.11
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/educujournal/vol45/iss2/11