Abstract
การวิเคราะห์บทเพลงคัดสรรสำหรับนิสิตรายวิชาเครื่องสีไทย กรณีศึกษา ทางเดี่ยวซออู้เพลงสุรินทราหู สามชั้นนั้น เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สังคีตลักษณ์และเทคนิควิธี ที่ปรากฏในบทเพลงคัดสรรเพลงนี้ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างคือ ทางเดี่ยวซออู้เพลงสุรินทราหู สามชั้น สำนวนของ ผศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 ระดับประเทศ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 62 พ.ศ.2556 ซึ่งได้มาโดยใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมีจำนวน 3 ชิ้นประกอบไปด้วย แบบบันทึกโน้ตเพลงไทย แบบวิเคราะห์สังคีตลักษณ์ และแบบวิเคราะห์เทคนิควิธี การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการถอดทางเดี่ยวและทำนองหลักเป็นโน้ตไทยแบบ 8 ห้องเพลง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การอ่านวิเคราะห์แนวคิดแบบอุปนัย ร่วมกับการวิเคราะห์สังคีตลักษณ์ตามองค์ประกอบเนื้อหา/สาระดนตรีของ พิชิต ชัยเสรี (2548) และเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยและเกณฑ์การประเมินของ สำนักมาตรฐานอุดมศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (2544) ตามขอบเขตหัวข้อที่กำหนดในกรอบแนวคิดการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า สังคีตลักษณ์และการวิเคราะห์ปรากฏดังนี้ คือ 1) ด้านจังหวะ เชิงปริมาณ จังหวะฉิ่งใช้การบรรเลงฉิ่งในอัตราจังหวะสามชั้นในเที่ยวหวาน และสองชั้นในเที่ยวเก็บ ส่วนเชิงคุณภาพ จังหวะหน้าทับใช้จังหวะหน้าทับปรบไก่ สามชั้น เป็นหลักในการบรรเลง 2) ทำนอง ในมิติของคุณภาพเสียงดัง ? เบา ปรากฏตามวัตถุประสงค์การประดิษฐ์เสียงของผู้ประพันธ์ตลอดทั้งเพลง และในมิติของสำเนียง พบว่าเป็นเพลงไทยสำเนียงมอญ 3) การประสานเสียง พบว่า มีการประสานเสียงเฉพาะแนวดิ่งในทำนองหลักเท่านั้น และไม่พบการประสานเสียงในแนวนอนแต่อย่างใด 4) รูปแบบ ในมิติของแบบแผนการบรรเลง พบว่า เป็นไปตามขนบวัฒนธรรมเพลงเดี่ยวในกลุ่มเครื่องสาย คือ บรรเลงเที่ยวหวาน 1 เที่ยว เที่ยวเก็บ 1 เที่ยว ไล่เรียงทั้ง 3 ท่อน ส่วนในมิติของแบบแผนท่วงทำนอง พบว่า เพลงนี้เป็นเพลง 3 ท่อน ท่อน 1 มี 3 จังหวะ ท่อน 2 และท่อน 3 มีท่อนละ 4 จังหวะ เป็นรูปแบบซ้ำท้าย AB/CB/DB ทั้ง 3 ท่อน พบอีกว่าในเที่ยวหวานของท่อนที่ 2 มีการประพันธ์สำนวนมอญที่ชัดเจน และเที่ยวหวานท่อนที่ 3 มีการประพันธ์เลียนสำนวนร้องคล้ายการว่าดอกสอดแทรกอยู่ อีกทั้ง มีการบรรจุสำนวนขยี้ของพระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน)ในตอนท้ายท่อนอีกด้วย ในมิติด้านบันไดเสียงหรือทางเสียง พบว่า เพลงนี้มี 2 บันได/ทางเสียง คือ ทางเสียงกลาง และ ทางเสียงชวา ส่วนในมิติด้านการเปรียบเทียบลูกตกระหว่างอัตราจังหวะพบว่า มีทั้งตรงตามคู่ 8 กับทำนองหลัก และเป็นคู่ประสานอื่นๆโดยเจตนาของผู้ประพันธ์ที่ต้องการสำแดงเทคนิควิธีในการประพันธ์เรียบเรียง 5) อารมณ์ พบว่า เพลงนี้ ปรากฏ ศฤงคารรสหรือ รสรักหรืออารมณ์รัก และ 6) ลีลา พบว่า มีครบทั้ง 3 ลีลา คือ ลีลาชาติ สำนัก และศิลปิน เทคนิควิธีในการบรรเลงพบว่า มีการใช้เทคนิคทั้งสิ้น 15 วิธี ไม่พบเทคนิค นิ้วแอ้ การเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นเป็นคู่ห้า และการสีรัว หากแต่พบเทคนิคเพิ่มเติมอีก 1 วิธี คือ การสีย้อยจังหวะ
Publisher
Faculty of Education, Chulalongkorn University
DOI
10.58837/CHULA.EDUCU.44.2.8
First Page
133
Last Page
145
Recommended Citation
ฉัพพรรณรัตน์, ยุทธนา
(2016)
"การวิเคราะห์บทเพลงคัดสรรสำหรับนิสิตรายวิชาเครื่องสีไทย กรณีศึกษาทางเดี่ยวซออู้เพลงสุรินทราหูสามชั้น,"
Journal of Education Studies: Vol. 44:
Iss.
2, Article 8.
DOI: 10.58837/CHULA.EDUCU.44.2.8
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/educujournal/vol44/iss2/8