Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบประสานสัมพันธ์ครอบครัวและโรงเรียนสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยใช้การวิจัยแบบผสมผสานวิธีการ (Mixed-Methods Research Design) แบ่งแป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาแนวทางการส่งเสริมความสามารถในการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 จากข้อมูลทั้งบริบทภายในและภายนอกโรงเรียน โดยการวิเคราะห์และสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการเรียนรู้ด้านการอ่าน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบด้านภาษาไทย ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 3 ระยะที่ 2 สร้างและตรวจสอบความถูกต้อง ความเหมาะสม และความครอบคลุมในด้านการใช้ประโยชน์ (Utility) ความเป็นไปได้ (Feasibility) ความเหมาะสม (Propriety) และความถูกต้อง (Accuracy) ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบประสานสัมพันธ์ครอบครัวและโรงเรียน เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน ครูผู้สอนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 จากโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่มีผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (NT) ปีการศึกษา 2555 เกี่ยวกับความสามารถด้านภาษาอยู่ในระดับสูงและระดับต่ำ 3 อันดับแรกของแต่ละภูมิภาค จำนวน 213 คน และระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบประสานสัมพันธ์ครอบครัวและโรงเรียนเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนที่มีขนาดและช่วงเวลาในการวัดแตกต่างกันโดยทดลองใช้ กับกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) จากโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ขนาดละ 1 โรงเรียน รวมจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมการวิจัยจนสิ้นสุดโครงการ จำนวน 152 คน สถิติที่ใช้ใน การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการอ่านของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ของโรงเรียนแต่ละขนาดและแต่ช่วงเวลาในการวัด ใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนของตัวแปรพหุนามแบบวัดซ้ำ (Repeated Measures MANOVA) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1) แนวทางการส่งเสริมความสามารถในการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 พบว่า มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสามารถในการอ่าน 3 ประการ ได้แก่ ด้านนักเรียน ด้านโรงเรียน และด้านผู้ปกครองนักเรียน โดยแต่ละปัจจัยมีความสัมพันธ์กับแนวคิดการเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้ ด้วยตนเอง แนวคิดแรงจูงใจ และแนวคิดรูปแบบการเรียน และจากการสัมภาษณ์เชิงลึกแสดงให้เห็นชัดเจนว่าความร่วมมือระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะทำให้การพัฒนาการอ่านของนักเรียนประสบผลสำเร็จได้ 2) รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบประสานสัมพันธ์ครอบครัวและโรงเรียนเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ประกอบด้วย ขั้นตอนการวางแผน การนำไปใช้ และการวัด และประเมินผลการเรียนรู้ โดยเริ่มตั้งแต่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการอ่าน ผู้บริหารโรงเรียนซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการศึกษาของโรงเรียนต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา การอ่านของนักเรียนโดยการส่งเสริมและสนับสนุนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ส่งเสริมการอ่านของโรงเรียน บทบาทของครูผู้สอนที่สำคัญ คือนำนโยบายของผู้บริหารโรงเรียนมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน สร้างบรรยากาศส่งเสริมการอ่านในห้องเรียน ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลที่เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้หรือพฤติกรรมในการอ่านของนักเรียน รวมทั้งผู้ปกครองนักเรียนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติกิจกรรมการอ่านของนักเรียน คือ การสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาการอ่านทั้งแรงจูงใจภายนอกและแรงจูงใจภายใน และการส่งเสริมการอ่านของนักเรียนให้เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้ หรือพฤติกรรมในการอ่าน 3) ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบประสานสัมพันธ์ครอบครัวและโรงเรียนเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนที่มีขนาดและช่วงเวลาในการวัดแตกต่างกัน พบว่า นักเรียนที่เข้าร่วมการวิจัยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบประสานสัมพันธ์ครอบครัวและโรงเรียนเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 มีความสามารถในการอ่านสูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากขนาดของโรงเรียน พบว่า นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 จากโรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกันมีความสามารถในการอ่านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกันมีความสามารถในการอ่านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อพิจารณาจากการวัดแต่ละช่วงเวลา พบว่า การวัดแต่ละช่วงเวลามีผลให้ความสามารถในการอ่านของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และพบว่าผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบประสานสัมพันธ์ครอบครัวและโรงเรียน เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เนื่องจากนักเรียน มีความสามารถในการอ่านสูงขึ้น ผู้ปกครองกับนักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมการอ่านร่วมกัน ทำให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น และนักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งนักเรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นในการอ่านมากยิ่งขึ้น
Publisher
Faculty of Education, Chulalongkorn University
DOI
10.58837/CHULA.EDUCU.44.2.5
First Page
74
Last Page
99
Recommended Citation
บุญยะภาส, ดวงใจ; เจริญสุข, อรอุมา; เซ็มเฮง, สุวพร; and กลิ่นน้ำหอม, รัชนีย์ญา
(2016)
"รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบประสานสัมพันธ์ครอบครัวและโรงเรียนเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3,"
Journal of Education Studies: Vol. 44:
Iss.
2, Article 5.
DOI: 10.58837/CHULA.EDUCU.44.2.5
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/educujournal/vol44/iss2/5