Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่าง คือ วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในประเทศไทยที่พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544จนถึงปัจจุบัน ผู้วิจัยใช้การสังเคราะห์เชิงคุณลักษณะ ด้วยแบบบันทึกคุณลักษณะวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น สถิติที่ใช้ คือ การแจกแจงความถี่และการหาค่าร้อยละ ผลการวิจัยสรุปได้ว่า 1) งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยทำการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ระดับชั้นประถมศึกษา ใช้ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพ ศิลปะ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่น จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ 4-9 แผน เวลาสอน 20-40 ชั่วโมง นำหลักสูตรไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างประมาณ 30 คน 2) องค์ความรู้ที่ได้เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นจากการสังเคราะห์ มีรายละเอียดดังนี้ 1. ปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐาน หลักสูตร เนื้อหาที่ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น บุคลากร อาคารสถานที่ สื่อวัสดุอุปกรณ์และแหล่งการเรียนรู้ 2. การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ส่วนใหญ่มีกระบวนการสร้าง ใช้และประเมินหลักสูตร โดยมีการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ครู ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาที่จัดทำหลักสูตรทำการตรวจสอบคุณภาพ ผู้สอนคือ ผู้วิจัย ครูหรือวิทยากรท้องถิ่น จัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติภายในและนอกห้องเรียน มีการจัดทำวัสดุหลักสูตร สื่อวัสดุและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประเมินผู้เรียนโดยการทดสอบก่อน-หลังเรียน ประเมินหลักสูตรจากแบบสอบถาม/แบบวัดเจตคติ 3. ผลที่ได้จากการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ได้แก่ รูปแบบของหลักสูตรท้องถิ่น เป็นการปรับเนื้อหาหรือกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาที่มีอยู่แล้วหรือพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นใหม่ เนื้อหาในหลักสูตร เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพในท้องถิ่น กิจกรรมการเรียนการสอน ได้แก่ การสอนเนื้อหาที่เน้นให้เกิดทักษะโดยการสาธิตแล้วลงมือปฏิบัติหรือการสอนเนื้อหาที่เน้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา สื่อการเรียนรู้และวัสดุหลักสูตร ได้แก่ สื่อวัสดุอุปกรณ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ใบความรู้ ใบงานแบบฝึกหัด แหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ แหล่งการเรียนรู้ที่ใช้ในระหว่างการเรียนการสอนและแหล่งการเรียนรู้ที่ใช้หลังจากการเรียนการสอน วัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้วยแบบสังเกตพฤติกรรม แบบทดสอบหลังเรียน แบบประเมินผลงานหรือแบบประเมินทักษะการปฏิบัติงาน
Publisher
Faculty of Education, Chulalongkorn University
DOI
10.58837/CHULA.EDUCU.44.2.11
First Page
183
Last Page
201
Recommended Citation
พรหมทา, ศกร and ขมวัฒนา, เพิ่มเกียรติ
(2016)
"การสังเคราะห์วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในประเทศไทย,"
Journal of Education Studies: Vol. 44:
Iss.
2, Article 11.
DOI: 10.58837/CHULA.EDUCU.44.2.11
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/educujournal/vol44/iss2/11