Abstract
กระบวนการเรียนรู้แบบซึมซับ เกิดขึ้นจากการที่อินทรีย์ทั้ง 5 ของมนุษย์ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (ความ กระทบทางกาย) และธรรมารมณ์ (ความกระทบทางใจ) แล้วเกิดความสัมพันธ์ ปฏิกิริยาโต้ตอบตามวิถีทางของสิ่งมีชีวิต กระบวนการเรียนรู้แบบซึมซับ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาองค์ประกอบ ทั้งห้าที่รวมกันเข้าเป็นชีวิตหรือขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งอาจแปลให้เข้ากับศัพท์ทางการศึกษาว่า เป็นการพัฒนาพฤติกรรม ความรู้สึก การรับรู้ การคิดพิจารณา และส่วนที่เป็นความรู้แจ้งของมนุษย์ การสอนให้บุคคลเกิดความรักและรักษาสิ่งแวดล้อม คือ การเชื่อมโยง ชีวิตกับธรรมชาตินั่นเอง ถึงแม้ว่าสิ่งแวดล้อมจะมีทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยี การเผชิญและการอิงอาศัยซึ่ง กันและกันอาจมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ถ้าการศึกษาสามารถสร้างกระบวนการการเรียนรู้ให้มนุษย์สามารถพัฒนาองค์ประกอบทั้งห้าของชีวิตให้เกิดการ วิวัฒน์อย่างต่อเนื่องยาวนานมนุษย์ย่อมสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้สมดุลและกลมกลืน สิ่งแวดล้อมถูกทําลายเพราะตัณหา ความทะยานอยากอย่างไร้ขอบเขต ของมนุษย์ กระบวนการเรียนรู้แบบซึมซับค่อยๆ เปลี่ยน ปรับปรุงแก้ไขให้ตัณหา กลายเป็นฉันทะ คือ ความใฝ่ใจรักและปรารถนาจะทําให้เกิดผลดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ผู้มี ฉันทะคือผู้สร้างสรรค์ ส่วนตัณหานั้น คือตัวการของการทําลาย กระบวนการเรียนรู้แบบซึมซับเน้นการเรียนรู้ความจริงของชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งให้ผู้เรียนได้สัมผัสและสัมพันธ์กับธรรมชาติ ได้รับรู้ลักษณะที่ดีงามและ เลวร้ายของธรรมชาติและของมนุษย์ ได้เผชิญสถานการณ์และปัญหา ได้ฝึกทักษะ การคิดและการปฏิบัติจนสามารถแก้ปัญหานั้นได้ การเรียนรู้นี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งในครอบครัว โรงเรียน และ ในชุมชน
Publisher
Faculty of Education, Chulalongkorn University
DOI
10.58837/CHULA.EDUCU.28.1.1
First Page
1
Last Page
18
Recommended Citation
อมรวิวัฒน์, สุมน
(1999)
"การเรียนรู้เพื่อรักและรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการซึมซับ,"
Journal of Education Studies: Vol. 28:
Iss.
1, Article 1.
DOI: 10.58837/CHULA.EDUCU.28.1.1
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/educujournal/vol28/iss1/1