Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2022
Document Type
Independent Study
First Advisor
ศารทูล สันติวาสะ
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2022.163
Abstract
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่เริ่มมาตั้งแต่พ.ศ. 2562 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถครอบคลุมการปฏิบัติงานให้ทันต่อสถานการณ์ รัฐจึงต้องออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับเหตุการณ์และจำกัดความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ฮอสพิเทลก็นับเป็นหนึ่งในมาตรการฉุกเฉินนั้น หมายถึงการใช้โรงแรมหรืออาคารอยู่อาศัยสาธารณะอื่นเพื่อให้บริการด้านการสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 เพื่อเป็นพื้นที่ในการรักษาตัวและกักกันโรค ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพและแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก ฮอสพิเทลจึงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคเนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงรวมอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก มูลฝอยที่เกิดจากฮอสพิเทลนั้นเป็นมูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณมากตามนิยามของคำว่า “มูลฝอยติดเชื้อ” ซึ่งหากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการก็จะเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในฮอสพิเทลนั้นยังไม่ถูกกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง และยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่มีผลบังคับทางกฎหมายอันเป็นแนวทางที่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของสถานพยาบาลซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ ผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างละเอียด ชัดเจน รวมถึงมีบทกำหนดโทษหากไม่ทำตาม มูลฝอยติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการจัดการที่ถูกต้องตามหลักอนามัยไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนการคัดแยก เก็บ ขนหรือกำจัด โดยเฉพาะการคัดแยก เนื่องจากหากสามารถคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อได้อย่างถูกต้อง ณ แหล่งกำเนิดก็จะมีส่วนช่วยให้ห่วงโซ่การจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่เหลือทั้งหมดมีโอกาสเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสที่จะมีมูลฝอยติดเชื้อหลุดรอดออกไปภายนอกจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้สัมผัสอื่น ๆ ได้ มาตรการการจัดการที่ถูกต้องทำให้สามารถจำกัดพื้นที่ของมูลฝอยติดเชื้อ จำกัดการเคลื่อนย้ายและทำให้มูลฝอยติดเชื้อได้รับการกำจัดในวิธีที่ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถแพร่กระจายได้ ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนต้องมีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันรวมถึงต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานการป้องกันการแพร่และการติดเชื้อตามที่กำหนดตลอดขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนั้น เพื่อให้การจัดการมูลฝอยติดเชื้อในฮอสพิเทลได้รับการกำกับดูแลให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสาธารณะ ผู้วิจัยเห็นว่าควรมีการแก้ไข ปรับปรุง และเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อให้สถานประกอบการประเภทฮอสพิเทลอยู่ในบังคับของกฎกระทรวงว่าด้วยมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ รวมถึงมีการกำหนดบทบาทของผู้ประกอบการในเรื่องการกำกับดูแลการจัดการมูลฝอยติดเชื้อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างชัดเจนและมีบทลงโทษในกรณีที่ฝ่าฝืน หรือละเว้นการปฏิบัติดังกล่าว
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
องค์เนกนันต์, มินตรา, "มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อในโรงแรมหรืออาคารที่พักอื่นที่เปลี่ยนเป็นฮอสพิเทลในประเทศไทย" (2022). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 8245.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/8245