Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2020
Document Type
Independent Study
First Advisor
สำเรียง เมฆเกรียงไกร
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2020.148
Abstract
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมานั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และของทุกประเทศ และทุกธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งนับได้ว่าเป็นภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย สถานการณ์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นี้มีผลต่อเนื่องถึงภาคเศรษฐกิจอื่นมากมาย รวมทั้งมีความสำคัญสูงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์หรือหลักประกันที่สำคัญของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของภาคอสังหาริมทรัพย์ จะส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องเร่งผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงสามารถอยู่รอดกลับมาเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ยั่งยืนต่อไป มาตรการทางภาษีหลักๆ ที่ใช้กอบกู้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นค่อนข้างคล้ายคลึงทั่วโลกคือการ "เลื่อน" และ "ลด" สำหรับประเทศไทย ได้เลื่อนการชำระภาษีนิติบุคคลออกไปสามเดือนและหนึ่งเดือนสำหรับภาษีประเภทอื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก และแทบไม่ช่วยผู้ประกอบการเท่าที่ควร เพราะช่วงเวลาใหม่ที่กำหนดให้ชำระภาษีนั้น ยังอยู่ในห้วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งภาคเอกชนย่อมต้องการสงวนเงินสดไว้กับตัวเพื่อรักษาสภาพคล่อง หลังจากเจ็บหนัก จากการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงเดือนเมษายน ส่วนนโยบายลดภาษีของไทย ถือว่าแทบไม่ช่วยอะไร เพราะการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3 เปอร์เซ็นต์เป็น 1.5 เปอร์เซ็นต์ แทบไม่ได้มีสาระสำคัญ หากหันไปมองมาตรการทางภาษีของเหล่าประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก จะเห็นว่าทิ้งห่างไทยไปแบบไม่เห็นฝุ่น เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ ที่เลื่อนระยะเวลาชำระภาษีไป 9 เดือน ส่วนญี่ปุ่นเลื่อนให้ 12 เดือน หากรายได้ของธุรกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่นโยบายลดภาษีของต่างประเทศก็มีเนื้อมีหนัง เช่น จีน ที่ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ และยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบหนักอย่างการท่องเที่ยว เกาหลีใต้ ก็มีการลดภาษีให้ธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง ส่วน สิงคโปร์ ประกาศคืนภาษีบางส่วนให้ผู้ประกอบการหลายคนอาจสงสัยว่าถ้ารัฐบาลทั้งลดทั้งเลื่อนแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาบริหารประเทศ มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันวางแนวทางเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ในสภาวการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็น ผู้จ้างแรงงานร้อยละ 80 ของประเทศ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงอาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานและผิดนัดชำระหนี้ ในขณะเดียวกันความผันผวนในตลาดการเงินอาจทำให้บริษัทที่มีคุณภาพ ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและลดประสิทธิภาพในการระดมทุน มาตรการทางการเงิน ในส่วนของการเยียวยาผู้ประกอบการของไทยมีการเยียวยาเพื่อลดค่าใช้จ่ายและการพยายามเพิ่มเงินสด (Cash flows) ให้กับผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลและธนาคารกลางได้ให้ความช่วยเหลือผ่าน (1) ทางด้านภาษี โดยเป็นการเลื่อนภาษี ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย และการเร่งคืนภาษี (ในส่วนที่ได้นำส่งก่อน) (2) การให้ความช่วยเหลือทางด้านสาธารณูปโภค และค่าธรรมเนียม ส่วนใหญ่เป็นการยกเว้นค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ) และค่าธรรมเนียมต่างๆ ระยะเวลาอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน (3) การพักชำระหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งการพักหนี้ส่วนใหญ่ให้กับผู้ประกอบการในส่วนของ SMEs ระยะเวลา 3-6 เดือน และ (4) การช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการจ้างงาน การช่วยเหลือในส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือที่มีเงื่อนไข อาทิ จ่ายเงินอุดหนุนให้สถานประกอบกิจการ (งบประมาณ 10 ล้านบาท) เพื่อให้สถานประกอบการจัดฝึกอบรมแก่ลูกจ้าง การรับเงินช่วยเหลือ มีหลายกรณี เช่น สถานประกอบกิจการที่จัดฝึกอบรมแก่ลูกจ้างเกินร้อยละ 70 ของลูกจ้างจะได้รับเงินช่วย เหลือส่วนเกิน 200 บาทต่อคน เป็นต้น หรือ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 3-5 (คงที่ 3 ปี) เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการจ่ายค่าจ้างแรงงาน จากผลการศึกษาของกลุ่มคลัสเตอร์ความสามารถในการแข่งขันของสถาบันวิชาการต่างๆพบว่า มาตรการของไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เมื่อพิจารณาในภาพกว้างมาตรการที่ไทยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการมีความคล้ายคลึงกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่พิจารณาประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการความช่วยเหลือผ่านทางด้านภาษี ด้านสาธารณูปโภคและค่าธรรมเนียมต่างๆ การพักชำระหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการทางด้านสินเชื่อ และการลดความเสี่ยงแก่สถาบันการเงิน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือการออกมาตรการเพื่อการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นได้ว่ามาตรการความช่วยเหลือของไทยที่ให้ผู้ประกอบการมีความแตกต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค 4 ประการหลัก 1) มาตรการความช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการโดยตรงในไทย โดยเฉพาะผ่านทางด้านภาษี มีน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค 2) ประเทศในภูมิภาคมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยตรงในการสนับสนุนการจ้างงานในขณะที่ยังไม่มีมาตรการเช่น นี้ชัดเจนในไทย 3) มาตการการให้สินเชื่อของประเทศอื่นในภูมิภาคเน้นที่ผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางเช่นเดียวกับไทย แต่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถที่จะเข้าถึงเงินสินเชื่อพิเศษได้เช่นกัน อีกทั้งระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะมากกว่า 2 ปี รวมทั้งมีความชัดเจนเรื่องการประกาศการค้ำประกันเงิน กู้จากรัฐบาล 4) ประเทศอื่นในภูมิภาคมีการให้มาตรการการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการบางอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบอย่างมากจากวิกฤต COVID-19 เป็นพิเศษทั้งทางมาตรการด้านภาษี และการให้เงินช่วยเหลือ จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะศึกษาและนำมาเปรียบเทียบกับมาตรการของประเทศไทย เพื่อที่จะได้นำเสนอแนวทางการความช่วยเหลือต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ต่อไป
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
เพียรธรรม, กิตติพัฒน์, "มาตรการความช่วยเหลือต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้สถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019" (2020). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 7207.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/7207