Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Year (A.D.)

2018

Document Type

Independent Study

First Advisor

ทัชชมัย ทองอุไร

Faculty/College

Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)

Degree Name

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต

Degree Level

ปริญญาโท

Degree Discipline

กฎหมายเศรษฐกิจ

DOI

10.58837/CHULA.IS.2018.30

Abstract

การศึกษาเอกัตศึกษาเล่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายและกฎเกณฑ์ด้านการสอบบัญชีในประเทศไทย กรณีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี และเพื่อตอบข้อสมมติฐานของผู้เขียนที่ว่า “ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี จึงสมควรมีมาตรการทางกฎหมายและกลไกในการกำกับดูแลเพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี” โดยที่มาของการศึกษาเอกัตศึกษานี้เกิดจากปัญหาที่ผู้เขียนพบเจอจากประสบการณ์การทำงานเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ทั้งนี้ ในปัจจุบันรูปแบบการทำงานของผู้สอบบัญชีเป็นการประมวลผลด้วยมือและใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งมีข้อจำกัดด้านความสามารถและศักยภาพของร่างกาย อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพและการเกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน อย่างไรก็ตาม มนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ง่าย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หนึ่งในเทคโนโลยีที่เริ่มเป็นที่สนใจและเริ่มนำมาใช้งานจริงในด้านต่างๆ คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในงานสอบบัญชี แต่หากมีการนำไปใช้งานจริง จะช่วยให้ผู้สอบบัญชีสามารถตรวจข้อมูลในปริมาณที่มากขึ้น ลดทรัพยากรบุคคล ลดความผิดพลาดจากมนุษย์ ลดระยะเวลาที่ใช้ในการสื่อสารและการทำงาน ในขณะเดียวกัน จะช่วยให้ผู้สอบบัญชีสามารถคงไว้ซึ่งคุณภาพของงาน มาตรฐานและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน จากการศึกษากฎหมายและกฎเกณฑ์ด้านการสอบบัญชีในประเทศไทย พบว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี และกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่นั้นไม่ครอบคลุมด้านการกำกับดูแลเรื่องคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี การรับรองโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสอบบัญชี และคุณสมบัติของผู้พัฒนาและผู้จำหน่ายโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสอบบัญชี อีกทั้ง กฎหมายและกฎเกณฑ์มีความไม่เหมาะสมในเรื่องความรู้ความสามารถของบุคลากรซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล และข้อสมมติฐานที่ว่าผู้สอบบัญชีทำงานเกินความรู้ ความสามารถและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานในการปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติตนทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชีเมื่อมีการแสดงความเห็นต่องบการเงินเกิน 200 รายต่อปี ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเลือกศึกษากฎหมายและกฎเกณฑ์ด้านการตรวจสอบและควบคุมระบบสารสนเทศ ซึ่งกำกับดูแลโดยสมาคมผู้ตรวจสอบและควบคุมระบบสารสนเทศ – ภาคพื้นกรุงเทพฯ (Information Systems Audit and Control Association – Bangkok Chapter หรือที่เรียกว่า ISACA – Bangkok Chapter) เพื่อศึกษา วิเคราะห์และนำมาปรับใช้ในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหากฎหมายและกฎเกณฑ์ด้านการสอบบัญชี กรณีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี ทั้งนี้ วิชาชีพด้านการตรวจสอบและควบคุมระบบสารสนเทศเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกับวิชาชีพด้านการสอบบัญชี แต่มุ่งเน้นด้านการตรวจสอบระบบสารสนเทศและใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นหากมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี ดังนั้น ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่ครอบคลุมด้านการกำกับดูแล โดยเสนอให้ออกข้อบังคับเรื่องคุณสมบัติและวุฒิบัตรด้านระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีของผู้สอบบัญชี เพื่อกำหนดความรู้ความเชี่ยวชาญพื้นฐานที่ควรจะมีให้แก่ผู้สอบบัญชี ข้อบังคับเรื่องการรับรองโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสอบบัญชี มาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยและปรับความรู้ของปัญญาประดิษฐ์ให้ทันกาลอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์มีองค์ความรู้และการปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ และข้อบังคับเรื่องหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้พัฒนาและผู้จำหน่ายโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสอบบัญชี เพื่อกำกับดูแลการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชี และเพื่อกำกับดูแลการจำหน่ายโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อการค้าแก่บุคคลอื่น อีกทั้ง ผู้เขียนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เหมาะสมด้านความรู้ความสามารถของบุคลากรซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล โดยเสนอให้สภาวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่สภาวิชาชีพบัญชีจัดตั้งควรมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถกำกับดูแลผู้สอบบัญชีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี สุดท้ายนี้ ความไม่เหมาะสมของสมมติฐานที่ว่าผู้สอบบัญชีทำงานเกินความรู้ ความสามารถและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานในการปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติตนทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชีเมื่อมีการแสดงความเห็นต่องบการเงินเกิน 200 รายต่อปี ผู้เขียนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเพิ่มข้อยกเว้นให้แก่ผู้สอบบัญชีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้สอบบัญชีและเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถคงไว้ซึ่งความมีประสิทธิภาพและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

Share

COinS
 
 

To view the content in your browser, please download Adobe Reader or, alternately,
you may Download the file to your hard drive.

NOTE: The latest versions of Adobe Reader do not support viewing PDF files within Firefox on Mac OS and if you are using a modern (Intel) Mac, there is no official plugin for viewing PDF files within the browser window.