Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2017
Document Type
Independent Study
First Advisor
พล ธีรคุปต์
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2017.15
Abstract
การดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์ปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีกลยุทธ์หลากหลายรูปแบบ ในการแข่งขันเพื่อเป็นผู้นำในตลาด การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อจึงเป็น เครื่องมือสำคัญของผู้ผลิต และเนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่เป็นฐานการผลิต ภายในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้การกระจายสินค้าของผู้ผลิตในประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อ ตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานสำคัญของอุตสาหกรรม โดยผู้ผลิตอาจไม่ได้มีความ เชี่ยวชาญในการทำการตลาด หรือการกระจายสินค้าได้เท่ากับตัวแทนจำหน่าย ดังนั้นการกระจาย สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมจึงต้องอาศัยตัวกลางหรือตัวแทนจำหน่าย เป็นสำคัญ ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่ผู้ผลิตใช้ในการจูงใจตัวแทนจำหน่ายเพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลต่อรายได้มากที่สุดคือ การให้ส่วนลดตามปริมาณซื้อ (Volume Rebate) และในปัจจุบันรูปแบบการให้ส่วนลดดังกล่าวมีความหลากหลาย ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องให้ ความสำคัญต่อการรับรู้รายได้และรายจ่าย เนื่องจากรายได้จากการขายสินค้าที่เป็นผลจากการจูงใจ โดยการให้ส่วนลดตามปริมาณซื้อนี้ อาจทำให้ทั้งผู้ผลิตซึ่งเป็นผู้ให้ส่วนลดและตัวแทนจำหน่ายที่เป็นผู้รับส่วนลด หรือบางกรณีที่เป็นผู้ให้ส่วนลดต่อตัวแทนจำหน่ายรายย่อยมีวิธีการรับรู้รายได้และ รายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกัน ทั้งด้านผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายอาจมีการรับรู้รายได้จากการขายสินค้า ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายการให้ส่วนลดตามปริมาณซื้อ หากสัญญาการให้ส่วนลดตามปริมาณซื้อมีอายุสัญญา และข้อปฏิบัติตามเงื่อนไขข้ามรอบบัญชี เนื่องจากการตีความตามการรับรู้รายได้และรายจ่ายเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร พิจารณาร่วมกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 และคำสั่งที่ ป. 118/2545 ซึ่งไม่ได้มีการระบุชัดเจนถึงการรับรู้รายได้และรายจ่ายของธุรกรรมการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับการให้ส่วนลดเพื่อจูงใจในการซื้อสินค้า ทั้งนี้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ได้ให้ความสำคัญกับการรับรู้รายได้ตามสัญญา โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ทั้งลักษณะ จำนวน จังหวะเวลา และความไม่แน่นอนของรายได้ ที่มีผลต่อการรับรู้รายได้เพื่อให้การแสดงรายได้ในงบการเงินสามารถสะท้อนมูลค่าได้อย่างแท้จริง และน่าเชื่อถือมากที่สุดจากการศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการรับรู้รายได้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า เมื่อการซื้อขายสินค้ามีความสัมพันธ์กับส่วนลดตามปริมาณซื้อ ทำให้มีผลต่อรายได้ตามสัญญา รายได้นั้นถือเป็นสิ่งตอบแทนผันแปร ที่กิจการต้องให้ความสำคัญกับการประมาณการ โดยพิจารณาร่วมกับปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกับข้อมูลที่ผู้บริหารต้องรวบรวมเพื่อการวิเคราะห์ความสามารถของตัวแทนจำหน่ายในการซื้อและขายสินค้าของผู้ผลิต เพื่อให้ได้รับส่วนลดตามปริมาณซื้อตามสัญญา แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 15 โดยใช้การประมาณการซึ่งอาจยังไม่ได้เป็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนมากพอที่ผู้ประกอบการจะนำมาใช้ประมาณการการรับรู้รายได้จากการขายสินค้า และประมาณการรายจ่ายส่วนลดตามปริมาณซื้อเพื่อจูงใจในการซื้อสินค้านั้น ซึ่งทั้งผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายยังต้องพิจารณาเงื่อนไขในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (9) เกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้ามเนื่องจากเป็นรายจ่ายที่ควรจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นด้วย ผู้เขียนเห็นว่าเพื่อความเป็นธรรมสำหรับตัวแทนจำหน่ายที่มีการตั้งประมาณการรายรับสำหรับการได้รับส่วนลดตามปริมาณซื้อ กรมสรรพากรควรกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ในกรณีนี้ด้วย อีกทั้งการบังคับใช้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 15 ในอนาคต ผู้เขียนเห็นว่ากรมสรรพากรควรให้ความสำคัญกับหลักการบัญชีที่เปลี่ยนไป หากมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างมีนัยสำคัญ อาจต้องมีการเปรียบเทียบข้อมูลในงบการเงินของผู้เสียภาษีหลังจากมีการบังคับใช้มาตรฐานฉบับใหม่นี้ เพื่อประกอบการประเมินการเสียภาษีด้วย นอกจากนี้เพื่อเป็นการกำหนดแนวปฏิบัติในการรับรู้รายได้และรายจ่ายเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 รายได้ที่เป็นผลจากการให้ส่วนลดตามปริมาณซื้อเพื่อการส่งเสริมการขาย กรมสรรพากรควรมีการพิจารณารายได้จากการขายสินค้าของผู้ผลิตรถยนต์และตัวแทนจำหน่ายว่ามีรายจ่ายใดบ้างที่สัมพันธ์กัน เพื่อให้ผู้เสียภาษีมีหลักการปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันมีรูปแบบสัญญาการให้ส่วนลดตามปริมาณซื้อที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
คำไพเราะพันธุ์, ภัทราพร, "ปัญหาการรับรู้รายได้และรายจ่ายเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร : ศึกษากรณีรายจ่ายการให้ส่วนลดตามปริมาณซื้อ (Volume Rebate) เพื่อส่งเสริมการขายของธุรกิจรถยนต์ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 15" (2017). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 6765.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/6765