•  
  •  
 

Abstract

การวิเคราะห์บทเพลงคัดสรรสำหรับนิสิตรายวิชาเครื่องสีไทย กรณีศึกษา ทางเดี่ยวซออู้เพลงสุรินทราหู สามชั้นนั้น เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สังคีตลักษณ์และเทคนิควิธี ที่ปรากฏในบทเพลงคัดสรรเพลงนี้ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างคือ ทางเดี่ยวซออู้เพลงสุรินทราหู สามชั้น สำนวนของ ผศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 ระดับประเทศ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 62 พ.ศ.2556 ซึ่งได้มาโดยใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมีจำนวน 3 ชิ้นประกอบไปด้วย แบบบันทึกโน้ตเพลงไทย แบบวิเคราะห์สังคีตลักษณ์ และแบบวิเคราะห์เทคนิควิธี การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการถอดทางเดี่ยวและทำนองหลักเป็นโน้ตไทยแบบ 8 ห้องเพลง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การอ่านวิเคราะห์แนวคิดแบบอุปนัย ร่วมกับการวิเคราะห์สังคีตลักษณ์ตามองค์ประกอบเนื้อหา/สาระดนตรีของ พิชิต ชัยเสรี (2548) และเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยและเกณฑ์การประเมินของ สำนักมาตรฐานอุดมศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (2544) ตามขอบเขตหัวข้อที่กำหนดในกรอบแนวคิดการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า สังคีตลักษณ์และการวิเคราะห์ปรากฏดังนี้ คือ 1) ด้านจังหวะ เชิงปริมาณ จังหวะฉิ่งใช้การบรรเลงฉิ่งในอัตราจังหวะสามชั้นในเที่ยวหวาน และสองชั้นในเที่ยวเก็บ ส่วนเชิงคุณภาพ จังหวะหน้าทับใช้จังหวะหน้าทับปรบไก่ สามชั้น เป็นหลักในการบรรเลง 2) ทำนอง ในมิติของคุณภาพเสียงดัง ? เบา ปรากฏตามวัตถุประสงค์การประดิษฐ์เสียงของผู้ประพันธ์ตลอดทั้งเพลง และในมิติของสำเนียง พบว่าเป็นเพลงไทยสำเนียงมอญ 3) การประสานเสียง พบว่า มีการประสานเสียงเฉพาะแนวดิ่งในทำนองหลักเท่านั้น และไม่พบการประสานเสียงในแนวนอนแต่อย่างใด 4) รูปแบบ ในมิติของแบบแผนการบรรเลง พบว่า เป็นไปตามขนบวัฒนธรรมเพลงเดี่ยวในกลุ่มเครื่องสาย คือ บรรเลงเที่ยวหวาน 1 เที่ยว เที่ยวเก็บ 1 เที่ยว ไล่เรียงทั้ง 3 ท่อน ส่วนในมิติของแบบแผนท่วงทำนอง พบว่า เพลงนี้เป็นเพลง 3 ท่อน ท่อน 1 มี 3 จังหวะ ท่อน 2 และท่อน 3 มีท่อนละ 4 จังหวะ เป็นรูปแบบซ้ำท้าย AB/CB/DB ทั้ง 3 ท่อน พบอีกว่าในเที่ยวหวานของท่อนที่ 2 มีการประพันธ์สำนวนมอญที่ชัดเจน และเที่ยวหวานท่อนที่ 3 มีการประพันธ์เลียนสำนวนร้องคล้ายการว่าดอกสอดแทรกอยู่ อีกทั้ง มีการบรรจุสำนวนขยี้ของพระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน)ในตอนท้ายท่อนอีกด้วย ในมิติด้านบันไดเสียงหรือทางเสียง พบว่า เพลงนี้มี 2 บันได/ทางเสียง คือ ทางเสียงกลาง และ ทางเสียงชวา ส่วนในมิติด้านการเปรียบเทียบลูกตกระหว่างอัตราจังหวะพบว่า มีทั้งตรงตามคู่ 8 กับทำนองหลัก และเป็นคู่ประสานอื่นๆโดยเจตนาของผู้ประพันธ์ที่ต้องการสำแดงเทคนิควิธีในการประพันธ์เรียบเรียง 5) อารมณ์ พบว่า เพลงนี้ ปรากฏ ศฤงคารรสหรือ รสรักหรืออารมณ์รัก และ 6) ลีลา พบว่า มีครบทั้ง 3 ลีลา คือ ลีลาชาติ สำนัก และศิลปิน เทคนิควิธีในการบรรเลงพบว่า มีการใช้เทคนิคทั้งสิ้น 15 วิธี ไม่พบเทคนิค นิ้วแอ้ การเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นเป็นคู่ห้า และการสีรัว หากแต่พบเทคนิคเพิ่มเติมอีก 1 วิธี คือ การสีย้อยจังหวะ

Publisher

Faculty of Education, Chulalongkorn University

DOI

10.58837/CHULA.EDUCU.44.2.8

First Page

133

Last Page

145

Included in

Education Commons

Share

COinS
 
 

To view the content in your browser, please download Adobe Reader or, alternately,
you may Download the file to your hard drive.

NOTE: The latest versions of Adobe Reader do not support viewing PDF files within Firefox on Mac OS and if you are using a modern (Intel) Mac, there is no official plugin for viewing PDF files within the browser window.