Abstract
เหตุผลของการทำวิจัย : การทำศัลยกรรมเสริมความงามแพร่หลายมากขึ้นในกลุ่มช่วงอายุที่น้อยลง เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ในเกือบทุกรูปแบบ นักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายในโรงเรียนเขตกรุงเทพมหานคร เป็นกลุ่มบุคคลที่เติบโตมาท่ามกลางสื่อและความทันสมัยต่าง ๆ ช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่เปลี่ยนแปลงสถานศึกษา ซึ่งทำให้ชวนติดตามว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อความคิดที่อยากทำศัลยกรรมเสริมความงามของกลุ่มบุคคลนี้ เพื่อเป็นการสะท้อนและเป็นแนวทางพัฒนาความภาคภูมิใจในตนเองต่อไปวัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาแนวโน้มการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ความภาคภูมิใจในตนเอง และความสัมพันธ์ระหว่างแนวโน้มการทำศัลยกรรมเสริมความงามกับความภาคภูมิใจในตนเอง และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆของนักเรียนหญิงระดับชั้นมัธยมปลายในเขตกรุงเทพมหานครวิธีการทำวิจัย : กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนหญิงระดับชั้นมัธยมปลายในเขตกรุงเทพมหานคร โดยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 โดยใช้แบบสอบถาม 4 ชุด ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปแบบสอบถามบุคลิกภาพ แบบสอบถามความภาคภูมิใจในตนเองและแบบสอบถามแนวโน้มการทำศัลยกรรมเสริมความงามวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบจำแนกทางเดียว และสถิติถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอนผลการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับแนวโน้มการทำศัลยกรรมเสริมความงามในระดับปานกลาง (ร้อยละ 66.4) มีความภาคภูมิใจในตนเองในระดับปานกลาง (ร้อยละ 63.3) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับแนวโน้มการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ได้แก่ แนวของสื่อที่เสพในชีวิตประจำวัน (แนวบันเทิง แฟชั่น ความงาม) มีความแตกต่างกับคะแนนเฉลี่ยแนวโน้มการทำศัลยกรรมเสริมความงาม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ปัจจัยแผนการเรียน (ศิลป์ – ภาษา)และการรับรู้ภาพลักษณ์ของตนเอง (ไม่พึงพอใจ) ซึ่งมีความแตกต่างกับคะแนนเฉลี่ยแนวโน้มการทำศัลยกรรมเสริมความงาม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยที่สามารถทำนายระดับแนวโน้มการทำศัลยกรรมเสริมความงาม คือ แนวของสื่อที่เสพในชีวิตประจำวัน (แนวบันเทิง แฟชั่น ความงาม) และแผนการเรียนซึ่งสามารถร่วมกันทำนายได้ร้อยละ 12.5สรุป : แนวโน้มการทำศัลยกรรมเสริมความงามของกลุ่มตัวอย่างไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง หรือชี้ชัดว่าบุคคลนั้นเป็นอย่างไร การทำศัลยกรรมเสริมความงามเป็นเหรียญสองด้าน มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด หากมีการศึกษาข้อมูลอย่างดี เลือกบริโภคสื่ออย่างถูกต้องเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี มีความพึงพอใจในรูปลักษณ์ของตนเอง มีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความภาคภูมิใจในตนเองสามารถสร้างขึ้นได้จากตัวตน ความสามารถของเราที่ไม่ได้ขึ้นกับรูปลักษณ์ภายนอกเพราะไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่เรารู้จัก เข้าใจ และยอมรับตัวเราเอง ซึ่งสิ่งนี้ย่อมจีรังยั่งยืนและเป็นนิรันดร์มากกว่าความงามภายนอกที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา.
DOI
10.58837/CHULA.CMJ.61.5.10
First Page
677
Last Page
688
Recommended Citation
บุบผะศิริ, รสพร and กาญจนถวัลย์, บุรณี
(2017)
"แนวโน้มการทำศัลยกรรมเสริมความงาม และปัจจัยที่เกี่ยวข้องของนักเรียนหญิงระดับชั้นมัธยมปลายในโรงเรียนเขตกรุงเทพมหานคร,"
Chulalongkorn Medical Journal: Vol. 61:
Iss.
5, Article 11.
DOI: https://doi.org/10.58837/CHULA.CMJ.61.5.10
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/clmjournal/vol61/iss5/11