Abstract
เหตุผลของการทำวิจัย : การจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลระดับตติยภูมิและโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์มีความยุ่งยากซับซ้อน มีความยากลำบากในการจำหน่ายผู้ป่วย สังเกตได้จากปัญหาการนอนโรงพยาบาลนานวัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจนิยามของ “การนอนโรงพยาบาลนานและภาวะจำหน่ายยาก” ตลอดจนปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะจำหน่ายยาก จากมุมมองของบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลวิธีการทำวิจัย : การทำกลุ่มโฟกัส จำนวน 4 กลุ่มที่ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิแบบสหสาขาวิชาชีพ รวมทั้งสิ้น 37 ราย ข้อมูลจากการทำกลุ่มสัมภาษณ์ถูกนำมาวิเคราะห์และรวบรวมเป็นนิยามของการนอนโรงพยาบาลนานและภาวะจำหน่ายยาก ตลอดจนปัจจัยต่าง ๆที่เกี่ยวข้องทั้งทางบวก และลบต่อภาวะจำหน่ายยากผลการศึกษา : นิยามเรื่องการนอนโรงพยาบาลนาน หมายถึง ภาวะการนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลระดับตติยภูมินานเกินกว่าที่ระบบการรักษากำหนดไว้ ด้วยเกณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ 1. ตาม diagnosis related groups (DRGs)2. ตามค่าเฉลี่ยของวันนอนของแต่ละหอผู้ป่วย 3. ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินค่าเฉลี่ยของผู้ป่วยลักษณะเดียวกัน และ 4. มีคำสั่งจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแล้วแต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ ซึ่งในข้อสุดท้ายนี้ถือว่าเป็นนิยามของ “ภาวะจำหน่ายยาก” โดยปัจจัยที่มีผลต่อภาวะจำหน่ายยากที่ถูกกล่าวถึงมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านการดูแลที่เพิ่มขึ้น 2. ความกลัวความไม่มั่นใจของผู้ดูแลในการดูแลต่อเนื่องและ 3. ความไม่พร้อมของที่อยู่อาศัย ส่วนปัจจัยที่มีผลลดภาวะจำหน่ายยาก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. โปรแกรมและสถานที่เพื่อฝึกดูแลผู้ป่วยให้แก่ญาติผู้ดูแลที่ได้มาตรฐาน 2. การวางแผนจำหน่ายร่วมกับผู้ดูแลแบบองค์รวมตั้งแต่แรกรับผู้ป่วย และ 3. การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลสรุป : การวิจัยนี้ได้ให้ข้อสรุปเรื่องนิยามของการนอนโรงพยาบาลนาน และภาวะจำหน่ายยาก ตลอดจนปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อภาวะจำหน่ายยาก จากมุมมองของบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงและวิจัยต่อไป.
DOI
10.58837/CHULA.CMJ.61.4.9
First Page
511
Last Page
524
Recommended Citation
อรรฆยากร, ลัญฉน์ศักดิ์; ฉัตรแก้ว, พรเลิศ; ศรีรัตนบัลล์, ภาวิกา; มนัสวานิช, ภรเอก; สงวนทรัพย์, ทิพย์พร; มีถาวร, นวรัตน์; and อุทัยเฉลิม, ชลิดา
(2017)
"นิยามและปัจจัยของการไม่สามารถจำหน่ายผู้ป่วยในออกจากโรงพยาบาล โดยการทำกลุ่มโฟกัส,"
Chulalongkorn Medical Journal: Vol. 61:
Iss.
4, Article 10.
DOI: https://doi.org/10.58837/CHULA.CMJ.61.4.9
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/clmjournal/vol61/iss4/10