Abstract
เหตุผลของการวิจัย : พยาบาลเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง(Low back pain) โดยอาการปวดหลังส่วนล่างนั้นมีผลกระทบต่อระดับคุณภาพชีวิต ทำให้สมรรถภาพของร่างกายและความสามารถในการทำงานลดลง คุณภาพในการดูแลผู้ป่วยลดลง และส่งผลต่อการขาดงาน รวมถึงส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและการบริหารบุคลากรวัตถุประสงค์ : ศึกษาความชุกและปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับอาการปวดหลังส่วนล่างในพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยตัวอย่างและวิธีการศึกษา : เก็บรวบรวมข้อมูลจากพยาบาลวิชาชีพที่ปฎิบัติงานในหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผ่านเกณฑ์การคัดเข้าและยินยอมเข้าร่วมการวิจัย จำนวน 311 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง ประกอบด้วย4 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 ข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะงานประจำที่ทำ ส่วนที่ 3 ข้อมูลเกี่ยวกับอาการปวดหลังที่จำกัดความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ประเมินโดยใช้แบบสอบถามออสเวสทรีฉบับภาษาไทย ส่วนที่ 4 ข้อมูลสภาวะความเครียด ประเมินโดยแบบวัดความเครียด กรมสุขภาพจิต ข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนาในรูปของความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้ไค-สแควร์และสถิติการถดถอยโลจิสติก เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงกับอาการปวดหลังส่วนล่างผลการศึกษา : พบว่าความชุกของอาการปวดหลังส่วนล่างในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เท่ากับร้อยละ 39.2 ซึ่งอาการปวดหลังจำกัดความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันเล็กน้อย และพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง ผลการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับอาการปวดหลังส่วนล่าง ด้วยสถิติการถดถอยโลจิสติกพบว่าปัจจัยที่มีผลต่ออาการปวดหลังส่วนล่าง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ P <0.05 ได้แก่ การยกของหนัก (OR = 5.597, 95%CI = 3.275-9.565) การอยู่ในท่าทางที่ไม่ดีหรือไม่ถูกต้องขณะทำงาน(OR = 2.447, 95%CI = 1.185-5.053) และความเครียดระดับสูงถึงรุนแรง (OR = 2.312, 95%CI = 1.341-3.985)สรุป : ความชุกของอาการปวดหลังส่วนล่างในพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหลังส่วนล่าง คือ การยกของหนัก รวมถึงการอยู่ในท่าทางที่ไม่ดีหรือไม่ถูกต้องขณะทำงาน และระดับความเครียด จากผลการศึกษาปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหลังส่วนล่าง ทำให้ได้แนวทางในการป้องกันการเกิดอาการปวดหลังส่วนล่างในพยาบาลวิชาชีพ ตามสาเหตุที่เกี่ยวข้องได้.
DOI
10.58837/CHULA.CMJ.61.1.8
First Page
87
Last Page
102
Recommended Citation
ภิมาล, รัญชิดา and วงศ์มติกุล, วทันยา
(2017)
"ความชุกและปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหลังส่วนล่างในพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,"
Chulalongkorn Medical Journal: Vol. 61:
Iss.
1, Article 8.
DOI: https://doi.org/10.58837/CHULA.CMJ.61.1.8
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/clmjournal/vol61/iss1/8