•  
  •  
 
Chulalongkorn Medical Journal

Article Title

ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นกับนักเรียนปกติ ครู และบุคลากรอื่นๆ ในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนร่วมระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

Abstract

เหตุผลของการทำวิจัย : การดำเนินชีวิตของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นระดับชั้นมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนแบบเรียนร่วมต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในโรงเรียนคนอื่น ได้แก่ นักเรียนปกติ ครู และบุคลากรอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งพฤติกรรมเชิงบวกลบงานวิจัยที่ผ่านมามีการทำการศึกษาเฉพาะระดับชั้นอนุบาล โดยยังมิได้มีการศึกษาความรู้สึกของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นในระดับชั้นมัธยมวัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นกับนักเรียนปกติ ครู และบุคลากรอื่น ๆ ในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนร่วมรูปแบบการวิจัย : การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ส่วนบุคคลเชิงลึก (In-depth Interview) และการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion)สถานที่ทำการศึกษา : โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ และโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัยตัวอย่างและวิธีการศึกษา : เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น ทั้งหมด 6 คน ซึ่งคัดเลือกด้วยวิธีการจับสลาก นักเรียนปกติ ครู และบุคลากรอื่น ๆ กลุ่มละ 18 คน ด้วยวิธีการสุ่มแบบสโนว์บอล โดยคัดเลือกจากบุคคลที่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นรู้สึกชอบ และรู้สึกไม่ชอบ รวมถึงบุคคลที่เรียนร่วมหรือเคยมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นแนวคำถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองจากการทบทวนทฤษฎี และวรรณกรรมต่าง ๆ และนำไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขผลการศึกษา : นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับนักเรียนปกติทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งพฤติกรรมที่ทำให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นรู้สึกท้อแท้ในการจัดการเรียนร่วม คือพฤติกรรมทางด้านวาจาและการกระทำที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนปกติส่วนปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นที่ได้รับจากครูส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงบวก โดยครูจะให้การสนับสนุนนักเรียนเหล่านี้ทั้งในด้านการเรียน และด้านกิจกรรม ทั้งนี้ก็มีครูบางส่วนที่มองว่าควรมีการจัดให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นเรียนในโรงเรียนเฉพาะ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นกับบุคลากรอื่น ๆ เป็นไปในเชิงบวก โดยบุคลากรอื่น ๆ ในโรงเรียนมองว่านักเรียนเหล่านี้เป็นบุคคลที่น่าสงสาร ควรได้รับการช่วยเหลือ รวมถึงการมองว่าการให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนเหล่านี้เป็นเรื่องของบุญกุศลสรุป : ถึงแม้การจัดการเรียนร่วมจะเป็นการส่งเสริมสิทธิของบุคคลที่มีความบกพร่องให้มีโอกาสเช่นเดียวกับคนปกติ ทั้งนี้อุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นก็แสดงให้เห็นว่าลักษณะปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างนักเรียนเหล่านี้กับกลุ่มบุคคลอื่นเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นแบบส่วนบุคคล ถึงแม้ระบบการศึกษาจะมีการสนับสนุนความช่วยเหลือก็ตาม.