Abstract
โรคตับคั่งไขมันและเบาหวานพบร่วมกันได้บ่อย โดยอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มโรคตับคั่งไขมันที่ยังไม่มีโรคเบาหวานตั้งแต่แรกพบว่ามีโอกาสเกิดโรคเบาหวานใหม่ได้มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่มีโรคตับคั่งไขมันสูงถึง 3 เท่า ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่มีทั้งโรคตับคั่งไขมันและเบาหวาน กลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดภาวะพังผืดในตับและมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือ coronary artery disease(CAD) ได้มากกว่าผู้ป่วยโรคตับคั่งไขมันที่ไม่มีเบาหวาน อย่างไรก็ตามการรักษายังทำได้โดยมุ่งรักษาภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวานที่พบร่วมให้ดี รวมทั้งมุ่งเน้นการการยืนยันวินิจฉัยโรคตับคั่งไขมันและประเมินความรุนแรงโรคตับว่ามีพังผืดหรือไม่โดยการประเมินความรุนแรงของการอักเสบของตับในระบบการให้คะแนนจากข้อมูลทางคลินิกหรือ ระบบ scoring system โดยมี 2ระบบที่ใช้กันบ่อยคือ “NAFLD Fibrosis Score” หรือการให้คะแนนคำนวณจากค่าตัวแปร 6 ตัวได้แก่อายุ ดัชนีมวลกาย ค่าการทำงานตับที่ใช้อัตราส่วนเอนไซม์ตับ AST/ALT, ภาวะเบาหวาน จำนวนเกล็ดเลือด และค่าอัลบูมิน และระบบที่สองคือ BARD score ประกอบด้วยค่าอัตราส่วนค่าการทำงานตับ (AST/ALT ratio) โรคเบาหวาน และค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งทั้ง 2 ระบบจะช่วยวางแผนการรักษาโดยคัดกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดในตับออกมาได้ และแพทย์ต้องแนะนำให้ปรับวิถีชีวิตโดยต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและต้องลงมือทำอย่างจริงจัง และตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักประมาณร้อยละ 10 ในช่วงแรก และตั้งต้นใหม่เสมอหากทำไม่ได้ในครั้งแรกส่วนยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษามีไม่มากนัก และควรเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมที่ไม่จำเป็นรวมทั้งงดแอลกอฮอล์ด้วย.
DOI
10.58837/CHULA.CMJ.57.3.1
First Page
269
Last Page
277
Recommended Citation
Treeprasertsuk, S.
(2013)
"Correlation between nonalcoholic fatty liver disease (NAFLD) and diabetes,"
Chulalongkorn Medical Journal: Vol. 57:
Iss.
3, Article 1.
DOI: https://doi.org/10.58837/CHULA.CMJ.57.3.1
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/clmjournal/vol57/iss3/1