Abstract
ภาวะอ้วนในเด็กเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในหลายๆ ระบบของร่างกายรวมทั้งระบบหายใจ ความผิดปกติทางระบบหายใจเป็นผลมาจากการสะสมของเนื้อเยื่อไขมันตามอวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ เช่น ผนังทรวงอก ผนังหน้าท้อง ทางเดินหายใจ และกะบังลม ทำให้ความยืดหยุ่นของผนังทรวงอกและปอดลดลง ปริมาตรความจุปอดและความสามารถในการออกกำลังกายลดลง นอกจากนี้ไขมันที่สะสมอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนต้นและลำคอยังทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะหลับ เกิดภาวะ obstructive sleep apneaและ obesity hypoventilation syndrome ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กอ้วนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำหรือมีคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงและเกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการติดเชื้อในระบบหายใจหรือภายหลังได้รับยานอนหลับหรือยาสลบเพื่อทำการผ่าตัดนอกจากนี้ ยังพบว่า การที่มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำหรือคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงแบบเรื้อรังร่วมกับภาวะ leptin resistance ซึ่งพบได้ในเด็กอ้วนจะทำให้เด็กเหล่านี้มีการตอบสนองทางระบบหายใจน้อยกว่าปกติต่อภาวะขาดออกซิเจนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดคั่ง ทำให้ภาวะดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาก็จะนำไปสู่ภาวะการหายใจล้มเหลวหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดตามมาได้ นอกจากนี้ สารเคมีที่หลั่งจากเนื้อเยื่อไขมันยังมีผลทำให้เกิดการอักเสบในระบบหายใจ และอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหืดและภาวะหลอดลมไวเกินในเด็กเหล่านี้ การดูแลทางด้านโภชนาการและส่งเสริมการออกกำลังกายอาจช่วยให้สมรรถภาพปอดดีขึ้นและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เหล่านี้ได้.
DOI
10.58837/CHULA.CMJ.54.5.2
First Page
409
Last Page
418
Recommended Citation
Sritippayawan, S.
(2010)
"Impact of obesity on respiratory system in children,"
Chulalongkorn Medical Journal: Vol. 54:
Iss.
5, Article 2.
DOI: https://doi.org/10.58837/CHULA.CMJ.54.5.2
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/clmjournal/vol54/iss5/2