Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2020
Document Type
Independent Study
First Advisor
วุฒิพงษ์ ศิริจันทรานนท์
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2020.155
Abstract
ในช่วงก่อนวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีการเติบโตและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 2-3 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้ในปี 2561 รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยขยับขึ้นไปอยู่ในอันดับ 4 ของโลก และมีสัดส่วนของธุรกิจการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงถึงร้อยละ 22 จนกระทั่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งเริ่มระบาดมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2562 ส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของ Covid-19 คือ การจำกัดการเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ ลดการให้บริการขนส่งสาธารณะ และการใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งมาตรการเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งสิ้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จากนักท่องเที่ยว ทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ปี 2563 ลดลงร้อยละ 55.39 และร้อยละ 70.95 ตามลำดับ เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ธุรกิจโรงแรมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยเฉพาะในจังหวัดซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา กระบี่และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น และจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่มีรายได้หลักมาจากการประกอบธุรกิจโรงแรมตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 ซึ่งไม่รวมถึง การประกอบธุรกิจสถานที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม เช่น การเปิดฟาร์มสเตย์หรือโฮมสเตย์ เป็นต้น เนื่องจากสถานที่พักดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย และมีการประกอบธุรกิจให้บริการที่พักเพื่อหารายได้เสริมเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากจำนวนผู้เข้าพักและอัตราการเข้าพัก ในโรงแรมในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ปี 2563 ลดลงร้อยละ 56.28 และร้อยละ 40.57 ตามลำดับ เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมมีรายได้จากค่าห้องพักลดลง ในขณะที่ยังคงต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงเท่าเดิม ทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานและค่าใช้จ่ายในบริหารงานอื่น ๆ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมขาดสภาพคล่อง มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจลดน้อยลง และหากไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจส่งผลกระทบร้ายแรงถึงขั้นทำให้ธุรกิจโรงแรมต้องปิดตัวลง ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการออกมาตรการชั่วคราวทางภาษีเพื่อช่วยเหลือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ได้แก่ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรมเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ต้องการพัฒนา ปรับปรุงต่อเติมหรือขยายกิจการของโรงแรม แต่ต้องไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม สามารถนำรายจ่าย ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการโรงแรมระหว่างวันที่ 1 มกราคม– 31 ธันวาคม 2563 มาใช้เป็นรายจ่ายของกิจการได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายจริง โดยมีเงื่อนไขว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะต้องพร้อมใช้งานตามวัตถุประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นอกจากนี้ภาครัฐมีการออกมาตรการ ขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นนิติบุคคลและจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการชั่วคราวทางภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม ผู้วิจัยมีความเห็นว่า ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ณ เวลานี้ เนื่องจากในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมต้องการมากที่สุดคือ มาตรการจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักที่โรงแรม และการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มากที่สุดเพื่อให้กระแสเงินสดมาใช้ในการประคับประคองให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ดีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม ที่ภาครัฐออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมนั้น ถึงแม้ว่าผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมจะสามารถนำรายจ่ายเพื่อการปรับปรุงกิจการโรงแรมดังกล่าวมาใช้เป็นรายจ่ายของกิจการได้ 1.5 เท่าก็ตาม แต่การที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมจะได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการทางภาษี ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมจะต้องสำรองจ่ายเงินสดไปก่อน ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมสูงมากขึ้น โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 คงไม่มีผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมรายใดที่ต้องการ จะสำรองจ่ายเงินสดไปก่อนเพื่อการปรับปรุงโรงแรม เพราะนอกจากจะต้องสำรองจ่ายเงินสดซึ่งอาจจะมีอยู่จำนวนไม่มาก ยังมีความเสี่ยงที่เงินลงทุนในการปรับปรุงโรงแรมนั้นอาจจะไม่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับรายได้จากห้องพักและบริการเกี่ยวเนื่องที่ได้กลับคืนมา นอกจากนี้สำหรับมาตรการขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้วิจัยมีความเห็นว่า เป็นเพียงมาตรการที่ขยายเวลาให้ในระยะสั้น ซึ่งอาจจะไม่สามารถบรรเทาภาระภาษีและแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้อย่างเพียงพอจากกรณีที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยเห็นว่า ประเทศไทยควรมีการออกมาตรการทางภาษีอื่น ๆ ที่สามารถบรรเทาภาระภาษีของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้ โดยที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมมีกระแสเงินสดมากขึ้น และสามารถนำเงินนั้นมาหมุนเวียนใช้ในการดำเนินธุรกิจโรงแรม ซึ่งจะทำให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น โดยผู้วิจัยเห็นควรที่จะทำการศึกษามาตรการบรรเทาภาระภาษีในประเทศจีน เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ให้เหมาะสมต่อไป เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือการให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมนำเอายอดขาดทุนที่เกิดขึ้น มาหักจากกำไรที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ภายในระยะเวลามากกว่า 5 ปี เป็นต้น
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
สุขตระกูล, ปทิตตา, "มาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง : โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" (2020). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 7215.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/7215