Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2020
Document Type
Independent Study
First Advisor
พล ธีรคุปต์
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2020.144
Abstract
ในประเทศไทยและต่างประเทศมีการก่อตั้งการระดมทุนหรือทรัพย์สินร่วมกันระหว่างกลุ่มจัดตั้งนั้นๆ หรือระหว่างกลุ่มหลายกลุ่มด้วยกัน โดยมีกองทรัพย์สินซึ่งอาจมีได้ทั้งการจัดตั้งกองทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ และมีการตกลงกันระหว่างกลุ่มที่จัดตั้งนั้นว่าจะแบ่งหน้าที่ให้ใครเป็นผู้ดูแลหรือจัดการทรัพย์สินนั้นๆ ที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์และการนำมาซึ่งผลประโยชน์จากการจัดตั้งกองทรัพย์สินนั้น และนำผลประโยชน์ที่ได้จากการจัดตั้งมาแบ่งปันให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งการดำเนินการรูปแบบนี้มีมาอย่างยาวนานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีการเรียกชื่อว่า "กองรีท (REIT : Real Estate Investment Trust)" หรือ "กองทรัสต์ (Trust)" คือ การจัดการทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่นิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการจัดการทรัพย์สินเป็นกองทรัพย์สินที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ มีลักษณะเป็นกองทรัสต์ตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 กองทรัสต์ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ผู้ก่อตั้งทรัสต์ (Settlor) ผู้จัดการกองทรัพย์สินหรือทรัสตี (Trustee) และผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) ซึ่งโดยทั่วไปการจัดตั้งทรัสต์มักได้รับการยอมรับในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แต่ในบางประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) เช่น เยอรมัน ฝรั่งศส และญี่ปุ่น ได้มีการยอมรับให้มีการจัดตั้งทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินเช่นกัน แม้จะได้มีการกำหนดรูปแบบการจัดตั้งทรัสต์ตามที่กฎหมายกำหนด มีการจัดการและการดำเนินการทรัสต์เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่ในทางการปฏิบัติการทางด้านภาษียังคงมีประเด็นปัญหาอันเกิดจากการบริหารจัดการกองทรัสต์อย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นปัญหาเกี่ยวกับภาระภาษีของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และผู้ถือหน่วยทรัสต์ มีดังต่อไปนี้ ปัญหาภาษีในการจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีกรณีก่อตั้งกองทรัสต์ขึ้นมาจะต้องเสียภาษีอย่างไรบ้าง เนื่องจากมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทรัสต์ถึง 3 ฝ่าย คือ ผู้ก่อตั้งหรือผู้จัดการกองทรัสต์ ทรัสตี และผู้รับผลประโยชน์ และยังมีกองทรัพย์สินจากการก่อตั้งทรัสต์ ซึ่งเมื่อมีการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นก็จะต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายให้ถูกต้อง ตั้งแต่ขั้นตอนการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการควบคุมและดูแลเกี่ยวกับการดำเนินการประเภทนี้ และยังมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันเป็นปัจจัยในการก่อตั้งทรัสต์ให้แก่ทรัสตี ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ การจัดตั้งทรัสต์นี้ ในสรรพากรแต่ละพื้นที่ยังมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันส่งผลให้มีการเสียภาษีที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ หรืออาจส่งผลให้การปฏิบัติในการเสียภาษีในการจัดตั้งทรัสต์ไม่ถูกต้องตามที่ควรซึ่งอาจเป็นผลเสียหายต่อประเทศได้เช่นกันอันเป็นผลมาจากยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ปัญหาภาษีในการเลิกกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กรณีเลิกกองทรัสต์และอยู่ระหว่างการชำระบัญชี ต่อมาเมื่อกองทรัสต์จ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ ในทางปฏิบัติผู้ถือหน่วยทรัสต์มักจะเรียกร้องให้ผู้จัดการกองทรัสต์แจกแจงถึงเงินที่จ่ายว่าเป็นเงินส่วนแบ่งกำไรหรือเป็นเงินจ่ายคืนทุนเพื่อที่ผู้ถือหน่วยทรัสต์จะนำไปแยกยื่นภาษีอากร โดยเทียบเคียงกับการเสียภาษีจากกรณีได้รับเงินบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป ในทางภาษีอากร ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเรียกว่า "ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน" ผู้ชำระบัญชีจะจัดการคืนให้พร้อมกับเงินทุน ซึ่งจะได้รับคืนภายหลังที่จ่ายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปหมดสิ้นแล้ว จะส่งผลต่อการคำนวณภาษีประจำปีและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของผู้ถือหน่วยทรัสต์ ซึ่งในทางปฏิบัติทางกองทรัสต์จำเป็นต้องแบ่งแยกให้ผู้ถือหน่วยหรือไม่ หรือเป็นหน้าที่ของบุคคลธรรมดาในการเสียภาษีประจำปี ด้วยที่มาและความสำคัญของปัญหาดังกล่าวมาแล้ว ทำให้ผู้วิจัยต้องการทราบแนวทางการจัดการที่ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมายที่รองรับการจัดตั้งทรัสต์ โดยเปรียบเทียบกับการดำเนินการกองทรัสต์ในต่างประเทศ โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์และอังกฤษเพื่อทราบทิศทางและการปฏิบัติการด้านภาษีเกี่ยวกับการจัดตั้งและเลิกทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม มีบรรทัดฐานเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้การชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกต้องไปด้วย ทั้งนี้เพราะกองทรัสต์มิได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลด้วย
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
สีดำ, นิภาวรรณ, "ปัญหาภาษีที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและเลิกทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์" (2020). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 7203.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/7203