Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2023
Document Type
Independent Study
First Advisor
ทัชมัย ฤกษะสุต
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2023.151
Abstract
ปัจจุบันความนิยมของสินค้าแฟชั่นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้ทันตามยุคสมัยอยู่เสมอส่งผลทำให้เสื้อผ้าที่ไม่ใช้งานแล้วถูกทิ้งกลายเป็นขยะจำนวนมาก จากประเด็นปัญหาข้างต้น ทำให้ในต่างประเทศเริ่มตระหนักในเรื่องผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตเสื้อผ้าตามกระแสนิยมและหันมาให้ความสนใจกับการซ่อมแซมเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์และใช้เสื้อผ้าซ้ำ เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยพบว่ายังไม่มีมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อส่งเสริมการซ่อมแซมเสื้อผ้าสำหรับจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษาถึงมาตรการทางภาษีของประเทศออสเตรียและประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้มีการนำมาตรการภาษีมูลค่าเพิ่มมาบังคับใช้จริง และสำหรับประเทศสวีเดนก็ยังมีมาตรการการลดหย่อนภาษี ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำต้นทุนและค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนในภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี สืบเนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีของประเทศสวีเดนข้างต้น ทำให้มีมาตรการที่มิใช่ภาษีแฝงอยู่ในฝั่งของผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ ในประเทศออสเตรียยังมีมาตรการที่มิใช่ภาษีเช่นเดียวกัน คือเป็นโครงการให้บัตรกำนัลแก่ประชาชนเพื่อสนับสนุนการซ่อมแซมซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งจากมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อส่งเสริมการซ่อมแซมเสื้อผ้าของทั้งสองประเทศข้างต้น ผู้เขียนได้ทำการเปรียบเทียบและวิเคราะห์แนวทางในการนำมาปรับใช้กับประเทศไทยเพื่อผลักดันและเพิ่มแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการซ่อมแซมเสื้อผ้าให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาขยะและลดมลพิษจากการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาเปรียบเทียบและวิเคราะห์แนวทางสำหรับมาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีเพื่อส่งเสริมการซ่อมแซมเสื้อผ้าของประเทศไทยกับประเทศออสเตรียและประเทศสวีเดน พบว่าประเทศออสเตรียและประเทศสวีเดนมีมาตรการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเป็นการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือเพียงครึ่งเดียวจากอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มปกติสำหรับการซ่อมแซมเสื้อผ้า ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาซ่อมแซมเสื้อผ้ามากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น และสำหรับประเทศสวีเดนก็ยังมีมาตรการการลดหย่อนภาษี ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำต้นทุนและค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับการให้บริการซ่อมแซมแก่ผู้บริโภคไปลดหย่อนในภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีได้ สืบเนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีของประเทศสวีเดนข้างต้น ทำให้มีมาตรการที่มิใช่ภาษีแฝงอยู่ในฝั่งของผู้บริโภคด้วย กล่าวคือ เมื่อผู้บริโภคได้มีการว่าจ้างให้ผู้ประกอบการทำการซ่อมแซมเสื้อผ้าให้ ผู้บริโภคจะได้รับส่วนลดจากค่าบริการซ่อมแซมในใบแจ้งหนี้ทันที สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซ่อมแซมเสื้อผ้ามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการมิใช่ภาษีของประเทศออสเตรียเช่นเดียวกัน คือเป็นโครงการให้ทุนสนับสนุนการซ่อมแซมโดยให้บัตรกำนัลค่าซ่อมแซมซึ่งโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากส่งผลให้โครงการนี้นำมาใช้ทั่วทั้งออสเตรีย แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาประเทศไทยยังไม่มีมาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีเพื่อส่งเสริมการซ่อมแซมเสื้อผ้า ดังนั้น ผู้ศึกษาเล็งเห็นว่าสำหรับประเทศไทย ภาครัฐควรนำแนวคิดของมาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีดังกล่าวมาปรับใช้ภายในประเทศและเร่งส่งเสริมการซ่อมแซมเสื้อผ้าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการซ่อมแซมและนำเสื้อผ้าที่ได้รับการซ่อมแซมกลับมาใช้ซ้ำในสัดส่วนที่มากขึ้น เพราะนอกจากทำให้เพิ่มอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์มากขึ้นแล้ว ยังทำให้เพิ่มมูลค่าแก่ตัวผลิตภัณฑ์อีกด้วยหากผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการปรับแต่งเสื้อผ้าให้มีลวดลายเพิ่มขึ้น รวมถึงให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการซ่อมแซมได้เพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจในด้านนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาสิ่งเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจนก่อให้เกิดธุรกิจที่มีมูลค่าสูง และสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาครัฐบรรลุเป้าหมายของมาตรการดังกล่าว คือการช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
แต่งสวน, นฤมล, "มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการซ่อมแซมเสื้อผ้า" (2023). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 13107.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/13107