Thai Environment
Publication Date
2019-04-01
Abstract
จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน มีพื้นที่ทั้งหมด 543.034 ตารางกิโลเมตร หรือ 356,271.25 ไร่ มีประชากรทั้งสิ้น 392,011 คน (สํานักงานจังหวัดภูเก็ต, 2559) พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ตเป็นที่ราบสูงหรือภูเขาและที่เหลือจะเป็นที่ราบเชิงเขาหรือชายฝั่งทะเล มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 3 แสนคนและมีประชากรแฝงอีกประมาณ 3.8 แสนคน (สำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต, 2558) บริเวณชายฝั่งทะเลของจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่สำคัญในการใช้ประโยชน์และการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และการประมง เป็นต้น ซึ่งมีอัตราการท่องเที่ยวมากขึ้นในทุกๆปี โดยในปี 2557 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 11 ล้านคนต่อปี (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2557) ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อมใกล้ชายฝั่งทะเล ดังนั้นปัญหาและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมาที่เห็นได้ชัดและส่งผลกระทบอย่างชัดเจนคือปัญหาขยะบริเวณชายฝั่ง ในปัจจุบันการใช้พลาสติกและวัสดุสังเคราะห์มีปริมาณเพิ่มขึ้นเหตุเพราะบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรืออุปกรณ์พลาสติกจัดเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันจึงทำให้การผลิตพลาสติกมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่าประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในทะเล (Jambeck et al., 2015) ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณขยะในทะเลซึ่งมีพลาสติกเป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 60-80% และในหลายพื้นที่อาจมีพลาสติกเป็นองค์ประกอบอยู่สูงถึง 90-95% ของปริมาณขยะทั้งหมด และเป็นที่รู้กันว่าไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กยากต่อการเก็บและการกำจัด ประกอบกับมีคุณสมบัติที่คงสภาพย่อยสลายได้ยากจึงง่ายต่อการปนเปื้อน การแพร่กระจาย การสะสมและตกค้างในสิ่งแวดล้อม จากงานวิจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องพบว่าพลาสติกเป็นขยะในทะเลที่พบมากที่สุดและเป็นแหล่งของสารพิษต่างๆ เนื่องจากพลาสติกสามารถดูดซับเอาสารพิษจากน้ำทะเลเอาไว้ โดยสารพิษที่พบมากเป็นพิเศษในขยะพลาสติก ได้แก่ สาร Polychlorinated biphenyl (PCBs) สาร Dichlorodiphenyethane (DDE) สาร Nonylphenols (NP)
Recommended Citation
เอกจิตต์, เพ็ญศิริ and รวมแก้ว, สิริวรรณ
(2019)
"ขยะไมโครพลาสติกบริเวณชายหาดฝั่งตะวันตก จังหวัดภูเก็ต,"
Thai Environment: Vol. 23:
Iss.
2, Article 3.
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/cuej/vol23/iss2/3