Thai Environment
Publication Date
2018-07-01
Abstract
การปนเปื้อนของสารมลพิษในแหล่งน้ำจัดว่าเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย และในหลายภูมิภาคทั่วโลก เนื่องมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การเกษตรกรรมแนวใหม่ และการบริโภควัตถุที่มากเกินความต้องการของประชาชน ส่งผลให้เกิดผลกระทบหลายประการ เช่น แหล่งน้ำเน่าเสียจากภาวะ Eutrophication หรือแหล่งน้ำปนเปื้อนโลหะหนักและสารฆ่าแมลง ทำให้น้ำมีคุณภาพต่ำจนไม่สามารถนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ การบำบัดสารมลพิษในน้ำสามารถทำได้ทั้งวิธีทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ สำหรับวิธีทางกายภาพและเคมี เช่น การแยกสารมลพิษโดยใช้ความร้อน (thermal desorption) การแลกเปลี่ยนไอออน (ion exchange) การกรองแยกผ่านเมมเบรน (membrane separation-filtration) หรือการบำบัดทางสารเคมี (chemical treatment) ล้วนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดี ใช้ระยะเวลาสั้น และเหมาะสมในกรณีที่สารมลพิษมีความเข้มข้นสูง แต่เทคนิคดังกล่าวมักจะมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งในเรื่องของเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงมีแนวความคิดที่จะนำพืชสีเขียวมาใช้บำบัดสารมลพิษ (Phytoremediation) ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีนี้จะสามารถบำบัดได้ทั้งสารมลพิษประเภทสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ มีต้นทุนต่ำ และประหยัดพลังงาน ผักตบชวา หรือ water hyacinth มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eichhornia crassipes (Mart.) Solms จัดอยู่ในวงศ์ Pontederiaceae ผักตบชวาเป็นพืชที่มีการศึกษาวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศในเรื่องความสามารถในการบำบัดสารมลพิษที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ในกรณีของสารมลพิษอินทรีย์ พบว่าผักตบชวาสามารถบำบัดอินทรียวัตถุและธาตุอาหาร เช่น ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส รวมทั้งสารฆ่าแมลงบางชนิดด้วย ส่วนสารอนินทรีย์พบว่า ผักตบชวาสามารถสะสมแคดเมียม โครเมียม ทองแดง ปรอท ตะกั่ว ซีเซียม สตรอนเทียม และยูเรเนียมได้ในปริมาณสูง ทั้งนี้กลไกในการบำบัดสารมลพิษแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นภายในต้นผักตบชวาน่าจะมีความแตกต่างกัน
First Page
49
Last Page
55
Recommended Citation
อริยกานนท์, นัยนันทน์
(2018)
"ผักตบชวากับการบำบัดสารมลพิษในน้ำ,"
Thai Environment: Vol. 22:
Iss.
3, Article 9.
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/cuej/vol22/iss3/9