Applied Environmental Research
Publication Date
2025-01-01
Abstract
บทความนี้นำเสนอความรู้พื้นบ้านของมอแกน ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เคยมีวิถีชีวิตเร่ร่อนในทะเล ที่มักจะรู้จักกันในนาม “ชาวเล” ความรู้พื้นบ้านคือชุดความรู้และความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่สร้างสมพัฒนา และสืบทอดต่อ ๆ กันมายาวนาน เป็นความรู้ที่เกิดจากการสังเกต การทดลอง และการปฏิบัติในวิถีประจำวันโดยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และนิเวศท้องถิ่น มอแกนมีความรู้เกี่ยวกับทะเลและจังหวะของธรรมชาติเช่นน้ำขึ้นน้ำลงและการเปลี่ยนแปลงของคลื่นลมในแต่ละฤดู มีความรู้เกี่ยวกับการสร้างเรือและการเดินเรือ “ก่าบาง” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต และมีความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ในป่า วิถีชีวิตแบบพราน -นักเก็บหา -นักเดินเรือ ทำให้มอแกนมีการสร้างสมความรู้พื้นบ้านเพื่อความอยู่รอดแถบทะเลและชายฝั่งได้อย่างดี ความรู้พื้นบ้าน ระบบคิด และแนวปฏิบัติของมอแกนได้ก่อให้เกิดรูปแบบการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คือ 1) ความรู้เกี่ยวกับการสร้างและการใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่เรียบง่ายนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรมากนัก เพราะเก็บหาได้เพียงพอแก่การยังชีพ 2) วิถีเร่ร่อน การโยกย้าย บ่อยครั้ง และการมีแหล่งอาหารที่หลากหลายในระบบนิเวศป่าและชายฝั่ง ทำให้เกิดการใช้พื้นที่หมุนเวียน สลับสับเปลี่ยนอยู่เสมอ จึงไม่มีทรัพยากรใดที่เสื่อมโทรมลงจากการใช้ที่ต่อเนื่อง 3) ความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม ชนิดของสายพันธุ์ ถิ่นที่อยู่ และลักษณะเฉพาะของสิ่งที่ล่าหรือเก็บหา ทำให้มอแกนรู้จักใช้แหล่งทรัพยากรที่หลากหลายได้เป็นอย่างดี 4) วิถีพราน -นักเก็บหาแบบหาเช้ากินค่ำ ไม่สะสม เป็นทางเลือกที่ทำให้มอแกนล่าและเก็บหาเพื่อเพียงพอสำหรับการบริโภคในแต่ละวัน 4) ระบบคิดของมอแกนเน้น ว่าทุกคนสามารกจะเข้าถึงและเก็บหาได้ ทรัพยากรธรรมชาติมิใช่เป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง นอกจากนี้ สังคมของ มอแกนยังเน้นที่จริยธรรมของการแบ่งปัน ทั้งกับเพื่อนมนุษย์และกับสิ่งเหนือธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ความรู้ เหล่านี้กลับไม่ได้รับความใส่ใจ และไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปแบบหนึ่งในการ “จัดการ’’ ทรัพยากรยิ่งไปกว่านั้น มอแกนถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนที่ด้อยพัฒนาและล้าหลัง ดังนั้น จึงควรพัฒนาขึ้นโดยการ รับสิ่งใหม่ๆ จากกายนอก ผู้เขียนได้สะท้อนในบทความนี้ว่า “การพัฒนา” ที่มีฐานคิดเช่นนี้จะทำให้มอแกนสูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิมรวมทั้งความรู้พื้นบ้านและแนวทางจัดการทรัพยากรที่ดำเนินมานับร้อยปี
First Page
80
Last Page
97
Recommended Citation
อรุโณทัย, นฤมล
(2025)
"ความรู้พื้นบ้านของมอแกน : รูปแบบการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ,"
Applied Environmental Research: Vol. 27:
No.
1, Article 6.
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/aer/vol27/iss1/6