UNISEARCH (Unisearch Journal)
Publication Date
2019-01-01
Abstract
ประเทศไทยร่ำรวยด้วยทรัพยากรทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย วัฒนธรรมไทยจึงเป็นที่สนใจแก่ชาวต่างชาติจนสร้างรายได้ให้แก่ประเทศผ่านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อเน้นย้ำจุดแข็งทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของไทย รัฐบาลได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์การส่งออกวัฒนธรรม เรียกว่า "5F" อันได้แก่ การส่งออกอาหาร(food) ศิลปะการต่อสู้ (fighting) แฟชั่น (fashion)เทศกาล (festival) และภาพยนตร์ (film) (กระทรวงวัฒนธรรม, 2559) โดยให้สื่อบันเทิงจำพวกภาพยนตรีและละครโทรทัศน์ทำหน้าที่เป็นช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมทั้ง 5หากมองเฉพาะในบริบทของละครโทรทัศน์ ผู้ผลิตของไทยได้ประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคมาแล้วอย่างมากมาย การศึกษาโดย อัมพร จิรัฐติกร (2562) บ่งชี้ว่าละครโทรทัศน์ไทยได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้านรวมไปถึงประเทศจีน เป็นระยะเวลาหลายปี นั่นแสดงว่าไทยมีศักยภาพจะเป็นมหาอำนาจด้านละครไม่ต่างจากผู้เล่นรายสำคัญของโลก กระนั้น หากต้องการให้ละครโทรทัศน์ไทยเผยแพร่ภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมดังเป้าประสงค์ข้างต้นจำเป็นต้องมีการขบคิดไปอีกขั้นว่า ควรทำอย่างไรเพื่อให้ละครไทยสามารถประสบความสำเร็จในตลาดที่ใหญ่ขึ้นเหมือนในกรณีของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้การศึกษาวิจัยเบื้องต้นเผยว่า คุณภาพของละครโทรทัศน์ไทยยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการส่งออก ขนาดใหญ่ เนื่องจากละครไทยไม่เป็นที่ยอมรับในตลาดสากลด้วยเหตุว่าความสร้างสรรค์ของผู้จัดละครติดกับดักโครงเรื่องและแก่นเรื่องที่ซ้ำซาก งานส่วนใหญ่ของไทยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการนอกใจ ประเด็นชู้สาว ความรุนแรงภาพนำเสนอบางอย่างบ่งบอกสภาพสังคมแบบชายเป็นใหญ่ หรือ มักกำหนดให้ตัวละครหญิงแสดงตนประหนึ่งวัตถุทางเพศ หรือ เป็นเหยื่อของความรุนแรงในขณะที่เนื้อเรื่องทั่วไปยังขาดค่านิยมเชิงวัฒนธรรมละครโทรทัศน์ไทยจึงยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งเสริมวัฒนธรรมสำหรับตลาดสากลซึ่งมีแนวโน้มปฏิเสธเนื้องานลักษณะดังกล่าวเพื่อปรับเปลี่ยนสถานการณ์ คณะผู้วิจัยเล็งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีการถอดบทเรียนจากงานยอดนิยมของต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้แนวทางสำหรับพัฒนาเนื้อหาละครไทยซึ่งจะเปิดทางให้แก่การเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านสื่อละครต่อไป ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาเทคนิคการสร้างสรรค์โดยเลือกมาจากกรณีศึกษาต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า100 กรณี คัดเฉพาะกรณีที่เผยแพร่ในช่วงคริสตทศวรรษที่ 2000-2010 และมีหลักฐานด้านความสำเร็จ การถอดบทเรียนอาศัยวิธีวิเคราะห์เนื้อหางานละครร่วมกับการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างละครโทรทัศน์ของไทยและละครโทรทัศน์ต่างประเทศ ทั้งหมดช่วยให้คณะผู้วิจัยค้นพบเทคนิคสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม
DOI
10.58837/CHULA.UNISEARCH.6.2.2
First Page
11
Last Page
17
Recommended Citation
ชุตินธรานนท์, สุเนตร; โล่พัฒนานนท์, ฐณยศ; and วงค์คำ, กฤษบดินทร์
(2019)
"การผลิตละครโทรทัศน์เพื่อการรับชมทั่วโลก,"
UNISEARCH (Unisearch Journal): Vol. 6:
Iss.
2, Article 3.
DOI: 10.58837/CHULA.UNISEARCH.6.2.2
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/unisearch/vol6/iss2/3