UNISEARCH (Unisearch Journal)
Publication Date
2017-01-01
Abstract
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (tourist industry) มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมภาคบริการที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดและกระจายรายได้ไปยังธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไมว่าจะเป็นด้านการขนส่ง การเดินทาง ภาคธุรกิจและการโรงแรม และร้านอาหาร เป็นต้น อันนำไปสู่การจ้างงานและการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตต่อไป ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยมีความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบันที่จะมีการเปิดเสรีทางการค้าและการบริการของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนความปลอดภัยในชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะความหวาดระแวงหรือหวาดกลัวต่อภัยที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการท่องเที่ยวนั้นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัญหาเรื่องการคุ้มครองนักท่องเที่ยวนั้นยังคงพบได้อยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นกรณีนักท่องเที่ยวถูกทำร้ายร่างกาย ถูกชิงทรัพย์ ข่มขืน หรือถูกฆ่า อีกทั้งยังปรากฏกรณีที่นักท่องเที่ยวถูกหลอกลวงให้ซื้้อสินค้า หรือบริการในราคาที่สูงเกินควร การไม่ติดป้ายราคาสินค้าหรือบริการ การเอาเปรียบนักท่องเที่ยว การล่อลวงอันก่อให้เกิดความเสียหายต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับมาตรการทางกฎหมายในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองนักท่องเที่ยวซึ่งนับว่าเป็นประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มิได้ถูกบัญัญติไว้เป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นการนำกฎหมายที่มีเป็นการทั่วไปมาปรับใช้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวจึงมีอยู่เป็นจำนวนมาก และอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆดังนั้น การดำเนินงานด้านการคุ้มครองนักท่องเที่ยวให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ชัดเจน และแน่นอน รวมทั้งให้มีความพร้อมสำหรับการแข่งขันเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อีกทั้งเพื่อให้การปฏิบัติงานและบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวเป็นไปในทิศทางเดียวกันอันจะนำไปสู่การพัฒนากฎหมายด้านการคุ้มครองนักท่องเที่ยวแบบบูรณาการต่อไป จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรวบรวมกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวรวมทั้งศึกษา และวิเคราะห์กฎหมายดังกล่าวว่ามีประสิทธิภาพในการคุ้มครองนักท่องเที่ยวหรือไม่ เพียงใด เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการพัฒนาการท่องเที่ยวการศึกษานี้มุ่งพิจารณามาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเภทที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวด้วยตนเอง มิได้ร่วมเดินทางมากับกลุ่มทัวร์ หรือที่เรียกว่าForeign Individual Tourism (FIT) เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวกับกลุ่มทัวร์นั้นมักได้รับความช่วยเหลือจากบริษัททัวร์ในด้านข้อมูลและการอำนวยความสะดวกในกรณีที่่เกิดปัญหาจากการท่องเที่ยว ในขณะที่ นักท่องเที่ยวแบบ FIT นั้นมักจะประสบปัญหามากกว่าเนื่องจากไม่มีมัคคุเทศก์ให้คำชี้แนะประกอบกับปัจจุบัน จำนวนนักท่องเที่ยวแบบ FIT เพิ่มจำนวนมากขึ้นดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาถึงมาตรการทางกฎหมายที่ให้การคุ้มครองแก่นักท่องเที่ยวในกลุ่มดังกล่าว
DOI
10.58837/CHULA.UNISEARCH.4.2.2
First Page
11
Last Page
15
Recommended Citation
ปิ่นแก้ว, อังคณาวดี
(2017)
"การบูรณาการกฎหมายด้านการท่องเที่ยว,"
UNISEARCH (Unisearch Journal): Vol. 4:
Iss.
2, Article 3.
DOI: 10.58837/CHULA.UNISEARCH.4.2.2
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/unisearch/vol4/iss2/3