UNISEARCH (Unisearch Journal)
Publication Date
2016-01-01
Abstract
ความเป็นประเทศหรือรัฐชาติสมัยใหม่นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน ร่วมกับการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนที่อาศัยอยู่ภายในเขตแดนนั้น ๆ (Holton, 1998) เช่นเดียวกับประชาคมยุโรป ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นมาด้วยเป้าหมายที่จะขจัดเขตแดนทางการเมืองของประเทศสมาชิก และเพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าหนทางสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้นยังอีกยาวไกล เพราะในขณะที่การสื่อสารของโลกปัจจุบันได้สร้างสำนึกของโลกที่ไร้พรมแดนและยังได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่น และเลื่อนไหลพ้นจากความเป็นชาติ กล่าวคือ ผู้คนในซีกโลกหนึ่งอาจจะเกิดความรู้สึกผูกพันกับข่าวสารและวัฒนธรรมของผู้คนในอีกซีกโลกหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในขณะเดียวกันนี้เองก็กลับมีความพยายามของรัฐชาติที่จะสถาปนาพรมแดนทางการเมืองและสร้างอัตลักษณ์ของชาติที่แข็งตัวยิ่งกว่าเก่า ดังจะเห็นได้จากกลุ่มคลั่งชาติและกลุ่มเหยียดเชื้อชาติที่กลับมามีอิทธิพลมากขึ้นในแต่ละประเทศ สภาวะเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความสับสนระหว่างสำนึกของความเป็นพลเมืองโลกกับสำนึกของความเป็นพลเมืองของรัฐชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนที่ก้าวข้ามพรมแดนของรัฐชาติผ่านการเคลื่อนย้ายถิ่นทางกายภาพและการก้าวข้ามวัฒนธรรม"เรื่องเล่าดิจิทัลกับความเป็นพลเมืองอาเซียน" เป็นโครงการวิจัยบนพื้นฐานของปฏิบัติการ (Practice-basedResearch) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของเรื่องเล่าดิจิทัลที่มีผลต่อแนวทางในการสร้างสรรค์เรื่องเล่าในบริบทสังคมวัฒนธรรมไร้พรมแดนและการสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน ในการศึกษาได้คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นเยาวชนจำนวน 30 คน จากชุมชนต่าง ๆ ในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาร่วมมือกันคิดเกี่ยวกับประเด็นด้านการเมืองและวัฒนธรรม ผ่านกระบวนการฝึกอบรมและสร้างสรรค์สื่อ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของประชาคมอาเซียนที่กำลังเกิดขึ้นใหม่นี้
DOI
10.58837/CHULA.UNISEARCH.3.3.1
First Page
3
Last Page
7
Recommended Citation
สินธุพันธุ์, จิรยุทธ์
(2016)
"การคิดผ่านการปฏิบัติ : สื่อสร้างสรรค์ในฐานะระเบียบวิธีในการวิจัย,"
UNISEARCH (Unisearch Journal): Vol. 3:
Iss.
3, Article 2.
DOI: 10.58837/CHULA.UNISEARCH.3.3.1
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/unisearch/vol3/iss3/2