•  
  •  
 

Journal of Demography

Abstract

บทความนี้มุ่งศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสะสมทักษะชีวิตในสังคมสมัยใหม่ของแรงงานย้ายถิ่นกลับจากต่างประเทศ ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ มีหน่วยวิเคราะห์ระดับปัจเจก กลุ่มตัวอย่างเป็นแรงงานย้ายถิ่นกลับจากต่างประเทศในจังหวัดชัยภูมิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย จำนวน 420 คน เก็บข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ด้วยแบบสัมภาษณ์ที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องเชิงเนื้อหาและมีค่าความเชื่อมั่น 0.902 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่าแรงงานย้ายถิ่นกลับจากต่างประเทศมีอายุเฉลี่ย43.6 ปี เป็นชาย ร้อยละ 56.2 และร้อยละ 33.1 จบชั้นประถมศึกษา มากกว่าครึ่งหนึ่งไปทำงานต่างประเทศแบบถูกกฎหมาย ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ร้อยละ 94.0 และร้อยละ 52.1 ย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศเพียง 1 ครั้ง ซึ่งแรงงานย้ายถิ่นกลับส่วนใหญ่ มากกว่าครึ่งหนึ่งเห็นคุณค่าในตนเองในระดับปานกลาง ร้อยละ 53.8 คาดหวังประโยชน์จากการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศระดับปานกลาง ร้อยละ 46.4 และแรงงานย้ายถิ่นกลับมากกว่าครึ่งหนึ่งสะสมทักษะชีวิตได้ในระดับปานกลาง เป็นที่น่าสังเกตว่า กว่าร้อยละ 40.0 สะสมทักษะชีวิตได้ในระดับต่ำ นอกจากนี้ พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสะสมทักษะชีวิตในสังคมสมัยใหม่ของแรงงานย้ายถิ่นกลับจากต่างประเทศ ได้แก่ เพศชาย จำนวนปีที่ศึกษา วิธีการย้ายถิ่นแบบถูกกฎหมาย จำนวนครั้งที่ย้ายถิ่น และการเห็นคุณค่าในตนเอง โดยทุกตัวแปรสามารถอธิบายการผันแปรของการสะสมทักษะชีวิตในสังคมสมัยใหม่ของแรงงานย้ายถิ่นกลับจากต่างประเทศได้ 32.6% (R-square = 0.326)

DOI

10.56808/2730-3934.1361

Share

COinS