Journal of Demography
Abstract
หนี้สินครัวเรือนเกษตรของประเทศไทยเป็นความท้าทายมาอย่างยาวนาน แต่ ณ ปัจจุบัน สัดส่วนของครัวเรือนภาคเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้บริบทเปลี่ยนแปลงไป บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อหนี้สินครัวเรือนเกษตรของประเทศไทยโดยการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2564ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผลการศึกษาพบว่า ครัวเรือนเกษตรมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าครัวเรือนทั้งสิ้น 1.01 เท่า เมื่อพิจารณาในส่วนของครัวเรือนเกษตรที่มีหนี้สินพบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและครัวเรือนมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าครัวเรือนทั่วประเทศโดยเฉลี่ยมากถึง 1.54เท่า โดยมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเท่ากับ 316,166.12 บาท ซึ่งเป็นหนี้สินในระบบเท่ากับ 309,071.78 บาท และหนี้สินนอกระบบเท่ากับ 7,094.33 บาท การวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกเชิงพหุขั้นตอนแบบทวิภาค (Stepwise multiple binary logistic regression analysis) พบว่าตัวแปรอิสระทั้งหมดสามารถร่วมกันอธิบายการแปรผันของหนี้สินของครัวเรือนเกษตรประเทศไทยได้ร้อยละ 21.50โดยตัวแปรภาคที่อยู่อาศัยเป็นตัวแปรแรกที่เข้าสู่สมการการวิเคราะห์ ซึ่งสามารถอธิบายการแปรผันของหนี้สินของครัวเรือนเกษตรประเทศไทยได้ประมาณร้อยละ 7.40 โดยครัวเรือนเกษตรที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสเป็นหนี้สูงกว่าครัวเรือนเกษตรในภาคกลาง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าความแตกต่างของภาคที่อยู่อาศัย นอกจากจะสามารถบอกถึงลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และยังสามารถแสดงถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอิทธิพลต่อลักษณะการเกิดหนี้สินที่แตกต่างกันด้วย เนื่องจากภาคที่อยู่อาศัยมีปัจจัยสนับสนุนหลักสำหรับทำการเกษตรที่แตกต่างกัน เช่น แหล่งน้ำ คุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐควรวางโครงสร้างพื้นฐานให้ครัวเรือนเกษตรสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรน้ำ การปรับปรุงคุณภาพพื้นดินแหล่งเงินทุน หรือแหล่งความรู้ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงทุกครัวเรือน
DOI
10.58837/CHULA.JDM.38.1.4
First Page
60
Last Page
71
Recommended Citation
ดวงเกตุ, พลากร
(2565)
"หนี้สินครัวเรือนเกษตรของประเทศไทย: ความท้าทายต่อเนื่อง,"
Journal of Demography: Vol. 38:
Iss.
1, Article 4.
DOI: https://doi.org/10.58837/CHULA.JDM.38.1.4
Available at:
https://digital.car.chula.ac.th/jdm/vol38/iss1/4