•  
  •  
 
Chulalongkorn Medical Journal

Abstract

เหตุผลของการทำวิจัย : การผ่าตัดเปิดลำไส้ใหญ่ออกทางหน้าท้อง (colostomy) มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์แก่ผู้ป่วย อาจมีปัญหาทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ อารมณ์ การเข้าสังคม และการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่การศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต ปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีทวารเทียมในประเทศไทยยังมีข้อมูลจำกัดวัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีทวารเทียมในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยวิธีการศึกษา : ทำการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีทวารเทียมที่มารับบริการตรวจรักษาที่ตึก ภปร. ชั้น 6 แผนกผู้ป่วยนอก ฝ่ายศัลยกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่เดือน มกราคม - มีนาคม ปี พ.ศ.2559 จำนวน 90 ราย โดยการตอบแบบสอบถามทั้งหมด 8 ชุด ได้แก่1) แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย 2) แบบสอบถามข้อมูลสุขภาพ 3) แบบประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทวารเทียม 4) แบบประเมินทัศนคติของผู้ที่มีทวารเทียมต่อการมีเพศสัมพันธ์ 5) แบบประเมินคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกฉบับย่อภาษาไทย 6) แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม 7) แบบประเมินอาการวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าในโรงพยาบาลฉบับภาษาไทย 8) แบบประเมินปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยใช้การทดสอบไคสแควร์ และวิเคราะห์ปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตระดับปานกลางถึงดีแบบการถดถอยลอจิสติกผลการศึกษา : คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีทวารเทียมในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 67.8) อยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีเกี่ยวข้องกับระดับคุณภาพชีวิตระดับปานกลางถึงดีได้แก่ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา สิทธิการรักษา การสูบบุหรี่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัมพันธภาพระหว่างบุคคล ภาวะวิตกกังวลภาวะซึมเศร้า ผลการวิเคราะห์ความถดถอยลอจิสติก พบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตระดับปานกลางถึงดี ได้แก่ ปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลระดับไม่มีปัญหาถึงมีปัญหาปานกลาง การไม่สูบบุหรี่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และมีสิทธิในการรักษาสรุป : คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีทวารเทียมในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลระดับไม่มีปัญหาถึงมีปัญหาปานกลางการไม่สูบบุหรี่ สถานภาพสมรสคู่ มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปและมีสิทธิในการรักษาจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีทวารเทียมดีขึ้น.

Publisher

Faculty of Medicine, Chulalongkorn University

First Page

387

Last Page

400

Share

COinS