Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทย
Other Title (Parallel Title in Other Language of ETD)
Factors affecting health condition of the elderly in Thailand
Year (A.D.)
1991
Document Type
Thesis
First Advisor
นภาพร ชโยวรรณ
Faculty/College
Graduate School (บัณฑิตวิทยาลัย)
Degree Name
สังคมวิทยามหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
DOI
10.58837/CHULA.THE.1991.805
Abstract
การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาอิทธิพลของปัจจัยทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พฤติกรรมอนามัยและการเข้าถึงบริการอนามัยที่มีผลต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลจากโครงการวิจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ประชากรของผู้สูงอายุในประเทศไทย (SECAPT) ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการเก็บข้อมูล ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2529 ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีหรือมากกว่า จำนวน 3,252 ราย และใช้วิธีการวิเคราะห์การจำแนกพหุ (MCA) ในการวิเคราะห์ ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า ปัจจัยทางด้านอายุ เพศ ความเพียงพอของรายได้ ฐานะทางการเงินในปัจจุบันฯ การศึกษา และเขตที่อยู่อาศัย มีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งก่อนและหลังปรับปัจจัยอื่น ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐาน กล่าวคือ ผู้สูงอายุที่มีอายุน้อยมีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่มีอายุมาก ผู้สูงอายุเพศชายมีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุเพศหญิง ผู้สูงอายุที่มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงชีพมีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุที่มีฐานะทางการเงินในปัจจุบันดีขึ้นกว่าเมื่ออาย 40-50 ปี มีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่มีฐานะทางการเงินในปัจจุบันคงเดิมหรือเลวลง ผู้สูงอายุที่มีการศึกษาสูงกว่ามีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่มีการศึกษาต่ำ และผู้สูงอายุในเขตเมืองมีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุในเขตชนบท ส่วนภาษาพูดมีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพในทางตรงข้ามกับสมมุติฐาน คือ ผู้สูงอายุที่ใช้ภาษาไทยเหนือเป็นภาษาพูดในครัวเรือนมีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่ใช้ภาษาอื่น ๆ ในครัวเรือน พฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือยาเส้นมวน และพฤติกรรมการดื่มสุรา มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ในทิศทางตรงข้ามกับสมมุติฐาน อย่างไรก็ตาม ไม่อาจสรุปได้ว่า ผู้สูงอายุที่สูบบุหรี่หรือยาเส้นมวน มีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่ไม่เคยสูบบุหรี่หรือยาเส้นมวน และผู้สูงอายุที่ดื่มสุรามีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่ไม่เคยดื่มสุรา เพราะปัญหาของการเลือกสรรในตัวเอง (Self-Selection) กล่าวคือ ผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมดังกล่าวอาจได้รับผลเสียของการสูบบุหรี่หรือการดื่มสุรา และเสียชีวิตไปก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่ยังคงมีชีวิตอยู่มักเป็นกลุ่มที่สามารถต่อต้านกับผลร้ายของการสูบบุหรี่หรือการดื่มสุรา สถานภาพสมรส จำนวนบุตรเกิดรอด ความเป็นเจ้าของบ้าน และอาชีพในช่วงก่อนอายุ 60 ปี มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุในทิศทางที่สอดคล้องกับสมมุติฐาน แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือผู้สูงอายุที่มีสถานภาพสมรสสมรสมีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่มีสถานภาพสมรสอื่น ๆ ผู้สูงอายุที่มีจำนวนบุตรเกิดรอดน้อยกว่ามีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่มีจำนวนบุตรเกิดรอดมากกว่า ผู้สูงอายุที่ตนเองหรือคู่สมรสเป็นเจ้าของบ้านมีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่อยู่บ้านของบุตรหลาน ญาติ หรืออื่น ๆ และผู้สูงอายุที่เคยประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรมในช่วงก่อนอายุ 60 ปี มีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่เคยประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ส่วนโครงสร้างครัวเรือนไม่มีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ ตัวแปรการเข้าถึงบริการอนามัยที่พบว่ามีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุในเขตชนบท คือ จำนวนปีที่ตั้งสถานพยาบาล ผู้สูงอายุที่อยู่ในหมู่บ้านที่สถานพยาบาลใกล้สุดตั้งมานานกว่า มีภาวะสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในหมู่บ้านที่สถานพยาบาลใกล้สุดตั้งขึ้นภายหลัง ส่วนประเภทของสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้และระยะทางจากหมู่บ้านถึงสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
นพพรพันธุ์, มยุรา, "ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทย" (1991). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 38325.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/38325