Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การสื่อสารในสถานสงเคราะห์คนชราประเภทเสียค่าบริการของรัฐบาลและเอกชน

Other Title (Parallel Title in Other Language of ETD)

Communication of paid customers in public and private homes for the aged

Year (A.D.)

2002

Document Type

Thesis

First Advisor

อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท

Faculty/College

Faculty of Communication Arts (คณะนิเทศศาสตร์)

Degree Name

นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต

Degree Level

ปริญญาโท

Degree Discipline

วาทวิทยา

DOI

10.58837/CHULA.THE.2002.485

Abstract

การวิจัยเรื่อง “การสื่อสารในสถานสงเคราะห์คนชราประเภทเสียค่าบริการของรัฐบาลและเอกชน" เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมองตนเอง (Self Perception) ของพี่เลี้ยงและผู้สูงอายุ ศึกษาความคาดหวังของผู้สูงอายุที่มีต่อบทบาทหน้าที่ของพี่เลี้ยง ศึกษาลักษณะการสื่อสาร ปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาในการสื่อสารระหว่างพี่เลี้ยงกับผู้สูงอายุ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงเจาะลึก (In-depth Interview) และใช้การสังเกตการณ์ประกอบในการเก็บข้อมูล ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นพี่เลี้ยง จำนวน 4 คนและผู้สูงอายุ จำนวน 20 คน ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์คนชราของรัฐบาลจำนวนสองแห่ง กลุ่มที่สอง ได้แก่ พี่เลี้ยง จำนวน 8 คน และผู้สูงอายุ จำนวน 13 คน ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์คนชราของเอกชนจำนวนสามแห่ง ผลการวิจัยพบว่า 1. พี่เลี้ยงในสถานสงเคราะห์คนชราของรัฐบาลและเอกชนมีการมองตนเองที่ไม่แตกต่างกัน โดยด้านนิสัยส่วนตัวที่เป็นบวก พี่เลี้ยงมองว่าตนเป็นคนในเย็น มีเมตตาชอบช่วยเหลือคนอื่น เข้ากับคนได้ง่าย และเข้าใจผู้อื่นได้ดี ส่วนนิสัยส่วนตัวที่เป็นลบ พี่เลี้ยงมองว่าตนเป็นคน ขี้หงุดหงิด และมีอารมณ์โกรธ ในด้านสถานภาพในความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ พี่เลี้ยงมองว่าตนเสมือนลูกหลายของผู้สูงอายุ ด้านสถานภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันพบว่าพี่เลี้ยงมีความพึงพอใจและมีทัศนคติที่ดีต่องานที่ทำ ในส่วนของการมองตนเองของผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ของรัฐบาลและเอกชนมีการมองตนเองในด้านนิสัยที่ไม่แตกต่างกัน โดยนิสัยส่วนตัวที่เป็นบวกของผู้สูงอายุ ได้แก่ มีเมตตาชอบช่วยเหลือผู้อื่น และเป็นคนอารมณ์ดี นิสัยส่วนตัวที่เป็นลบ คือเป็นคนโกรธง่าย ใจร้อน และขี้หงุดหงิด แต่ในด้านสถานภาพในความสัมพันธ์กับพี่เลี้ยง และด้านสถานภาพที่เป็นอยู่ ในปัจจุบันพบว่ามีความแตกต่างกัน คือ ผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ของเอกชนมองสถานภาพในความสัมพันธ์กับพี่เลี้ยงว่าตนเป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ของพี่เลี้ยง ซึ่งต่างจากผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ของรัฐบาลที่มองว่าตนเป็นเพียงผู้มาพึ่งพิงอาศัย โดยมีพี่เลี้ยงเป็นเจ้าหน้าที่คอยดูแล ส่วนการมองตนเองด้านสถานภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ของรัฐบาลนั้นพบว่าผู้สูงอายุมีความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันสูง แตกต่างจากผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ของเอกชนที่ต้องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ให้ได้ เนื่องจากผู้สูงอายุไม่ได้สมัครใจที่จะเข้ามาอยู่ แต่เป็นเพราะได้รับความเจ็บป่วยทางร่างกาย ทำให้ลูกหลานต้องพามารักษาตัว จึงเป็นสภาวะจำยอมของผู้สูงอายุ 2. ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐบาลและเอกชนไม่มีความคาดหวังต่อบทบาทหน้าที่ของพี่เลี้ยง เนื่องจากเห็นว่าพี่เลี้ยงปฏิบัติหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว 3. ลักษณะการสื่อสารระหว่างพี่เลี้ยงกับผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ของรัฐบาลและเอกชน มีลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน ดังนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ มีรูปแบบการสื่อสารที่ค่อนข้างตายตัว มีการสื่อสารที่ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ใช้สรรพนามแบบนับญาติ ใช้วัจนภาษาที่มีความชัดเจน เข้าใจได้ง่ายและมีความสุภาพ โดยใช้อวัจนภาษาประกอบ และการสื่อสารแบบสองทาง (Two-way Communication) ซึ่งผู้สื่อสารต่างก็ต้องตระหนักถึงคุณลักษณะของคู่น่วมสื่อสารด้วย 4. พี่เลี้ยงและผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐบาลและเอกชน ไม่พบปัญหาในการสื่อสาร เนื่องจากทั้งพี่เลี้ยงและผู้สูงอายุมีการสนทนาในลักษณะที่เชื่อมโยงสอดคล้องกัน จึงทำให้ไม่เกิดปัญหาในการสื่อสาร

Share

COinS