Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การผลิตและการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมไทย ประเภทเครื่องจักสานไม้ไผ่-หวาย

Other Title (Parallel Title in Other Language of ETD)

Production and promotion of Thai handicrafts, wickerwork-bamboo and rattan

Year (A.D.)

1983

Document Type

Thesis

First Advisor

โพธิ์ทอง แก้วสุทธิ

Second Advisor

สุกาญจนา ลิมปิสวัสดิ์

Faculty/College

Graduate School (บัณฑิตวิทยาลัย)

Degree Name

พาณิชยศาสตรมหาบัณฑิต

Degree Level

ปริญญาโท

DOI

10.58837/CHULA.THE.1983.376

Abstract

สินค้าหัตถกรรมไทย เป็นสินค้าที่มีบทบาทต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย กล่าวคือ ในด้านเศรษฐกิจ สินค้าหัตกรรไทยเป็นสินค้าออกที่สำคัญรายการหนึ่ง ในปี 2524 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าหัตถกรรมไทยประมาณ 6000 ล้านบาท ในด้านสังคม การผลิตและการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมไทย ทำให้คนมีงานทำลดปัญหาการว่างงาน มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ด้วยความสำคัญของสินค้าหัตถกรรมไทยดังกล่าวนี้ ทำให้รัฐบาลกำหนดนโยบายการส่งเสริมสินค้าหัตถกรรมไทย ซึ่งได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา การวิจัยนี้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาความเป็นมาของเครื่องจักสานประเภทไม้ไผ่หวาย สำรวจสภาพและแนวโน้มการผลิตและการส่งเสริมการจำหน่ายเครื่องจักสาน รวมทั้งการส่งเสริมของภาครัฐบาล โดยแบ่งประเภทกิจกรรมออกเป็นทางด้าน เทคนิควิชาการผลิต การเงิน สิทธิพิเศษในการลงทุน การตลาดและการส่งออก หน่วยงานภาครัฐบาลที่เป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาและค้นคว้า ได้แก่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพาณิชย์สัมพันธ์ กรมพัฒนาชุมชน กรมการค้าต่างประเทศ กรมศุลกากร เป็นต้น วิธีการศึกษาใช้การสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้บริหารในหน่วยงานดังกล่าว รวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องและการสอบถามผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมไทยประเภทเครื่องจักสานโดยใช้แบบสอบถาม จากการศึกษาวิจัยพบว่า เครื่องจักสานเป็นงานศิลปหัตถกรรมและหัตถกรรมประเภทเครื่องใช้ที่สำคัญและมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของชาวชนบทมาช้านานนับร้อยๆ ปีแล้วเครื่องจักสานของไทยแต่ละภาคมีเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะถิ่นที่แตกต่างกันไป ตามสภาพภูมิศาสตร์ของท้องถิ่น หน้าที่ในการใช้สอย การใช้วัสดุ และคตินิยมของท้องถิ่นนั้นๆ การผลิตเครื่องจักสานมีขั้นตอน มีหลักเกณฑ์เฉพาะตนที่สามารถนำมาวิเคราะห์ในเชิงศิลปได้ มีลักษณะการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นส่วนใหญ่ โดยการบอกกล่าวสอนกันด้วยปากและการฝึกฝนด้วยตนเอง จึงทำให้เครื่องจักสานมีการพัฒนาไปอย่างช้า แม้ในปัจจุบันจะมีการฝึกอบรมการทำเครื่องจักสานให้แก่ชาวชนบท โดยหน่วยงานที่ส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมบ้างก็ตามแต่ก็มีเพียงส่วนน้อย และยังขาดวิธีการที่ถูกต้อง จึงยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร จากการสำรวจพบว่า ในปัจจุบันมีการผลิตเครื่องจักสานหลายประเภทกระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีวัตถุดิบในท้องถิ่นของตนจะมีการผลิตค่อนข้างมาก ทั้งที่ทำขึ้นใช้ในครัวเรือน ผลิตจำหน่ายเป็นอาชีพหลักและอาชีพรอง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ารายได้จากการผลิตเครื่องจักสานนั้นค่อนข้างต่ำ ในด้านรูปแบบของเครื่องจักสานส่วนใหญ่ยังคงอาศัยรูปแบบพื้นบ้านดั้งเดิมเป็นหลักแต่มีหลายท้องถิ่นถูกอิทธิพลทางเศรษฐกิจและกระแสวัฒนธรรมต่างถิ่นเข้าไปเปลี่ยนแปลงทำให้รูปแบบของเครื่องจักสานเปลี่ยนไปและเกิดรูปแบบใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมสินค้าหัตถกรรมไทยของหน่วยงานภาครัฐบาลยังมีข้อบกพร่อง กล่าวคือ การเผยแพร่กิจกรรมการส่งเสริมในด้านต่างๆ ดังกล่าวไว้แล้วของหน่วยงานภาครัฐบาลยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องงบประมาณ คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ยังไม่เหมาะสม และขาดข้อมูลทางการตลาดที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อให้การส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐบาลบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมนี้ ควรจะได้พิจารณาและให้ความสำคัญกับงบประมาณในการส่งเสริมโดยจัดสรรให้มากยิ่งขึ้น จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทำการส่งเสริมให้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เพียงพอ สำรวจ ศึกษา วิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดเกี่ยวกับสินค้าหัตถกรรมไทยให้แก่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอยู่เสมอ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมในการส่งเสริมเพื่อให้ธุรกิจผู้ประกอบการได้เข้ารับการส่งเสริมและได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ตรงกับความต้องการ

Share

COinS