Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การคัดเลือกและฝึกอบรมผู้พิพากษาในประเทศไทย

Other Title (Parallel Title in Other Language of ETD)

Selection and Training of Judges in Thailand

Year (A.D.)

1983

Document Type

Thesis

First Advisor

วิทิต มันตาภรณ์

Faculty/College

Graduate School (บัณฑิตวิทยาลัย)

Degree Name

นิติศาสตรมหาบัณฑิต

Degree Level

ปริญญาโท

DOI

10.58837/CHULA.THE.1983.314

Abstract

อำนาจตุลาการเป็นอำนาจหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศตามระบบประชาธิปไตย ผู้พิพากษา หรือตุลาการ เป็นผู้ใช้อำนาจนี้ประสิทธิประสาทความยุติธรรม ธำรงและรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ป้องกันการปราบปรามอาชญากรรม รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและความเป็นธรรมในสังคม โดยการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือข้อพิพาทด้วยหลักนิติศาสตร์ อำนาจนี้จึงมีผลกระทบกระเทือนต่อชีวิต อิสรภาพ ชื่อเสียง เกียรติคุณและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป เมื่อเกิดการกดขี่ข่มเหงหรือความขัดแย้งขึ้นในสังคม และคู่กรณีหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถแก้ไขหรือระงับได้ด้วยตนเอง เพื่อความสงบเรียบร้อย ความมีระเบียบของสังคม จึงต้องมีสถาบันและบุคคลของบ้านเมืองไว้สำหรับยุติหรือแก้ไขข้อขัดแย้งและความเดือนร้อนให้สิ้นสุดลง สถาบันดังกล่าวก็คือ ศาลสถิตยุติธรรม และบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ในศาลก็คือ ผู้พิพากษา ด้วยลักษณะเช่นนี้ทำให้ศาลได้เชื่อว่าเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายของประชาชน อำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาจึงนับว่ามีความสำคัญยิ่ง บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่จึงต้องการทดสอบและกลั่นกรองมาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถทางนิติศาสตร์ เป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต และเป็นธรรมสมกับที่ประชาชนไว้วางใจให้ทำหน้าที่สำคัญ ถ้าหากภาพพจน์ของผู้พิพากษาเป็นที่เสื่อมเสีย เช่น ตัดสินคดีด้วยความเอนเอียง หรือรับสินบน ประชาชนย่อมจะไม่เคารพ เชื่อถือ และไว้วางใจอีกต่อไป เมื่อถึงวาระนั้นบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟและถึงการแตกดับในที่สุด ด้วยเป็นเพราะประชาชนขาดที่พึ่งและต่างก็หาทางออกในการยุติข้อพิพาทและความขัดแย้งกันเองตามอำเภอใจ ปัจจุบันในประเทศไทยคดีความที่เกิดขึ้นมีการอุทธรณ์ฎีกา เพื่อให้ศาลสูงวินิจฉัยกันเป็นจำนวนมากทำให้คดีความล่าช้าเป็นที่เสียหายแก่คู่ความเป็นอันมาก แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ฎีกาก็ตามที แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ คำพิพากษาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่เป็นที่พึงพอใจ และคู่ความเกิดความไม่แน่ใจในความรู้ความสามารถและความเที่ยงตรงของผู้พิพากษา วิธีการคัดเลือกผู้พิพากษาให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจึง เป็นสิ่งสำคัญอีกทั้งเมื่อคัดเลือกได้คนดีมีความรู้ความสามารถมาแล้ว จะมีวิธีการรักษาคนเหล่านั้นไว้ให้ดำรงความมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดไปได้อย่างไร ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า วิธีการฝึกอบรมผู้พิพากษาเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ผู้พิพากษาเป็นบุคคลในอุดมคติอันพึงปรารถนาวิธีคัดเลือกผู้พิพากษามีอยู่หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบการปกครอง การเมือง สังคมชีวิตความเป็นอยู่และประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ และการฝึกอบรมผู้พิพากษาจะมีความจำเป็นหรือไม่ และมีวิธีอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการคัดเลือกผู้พิพากษาในประเทศนั้นๆ ประเทศไทยมีระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาคล้ายคลึงกับระบบของประเทศไทยฝรั่งเศสและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวิธีแต่งตั้งโดยการสอบคัดเลือกตามลำดับผู้สอบได้คะแนนดี ประมุขของประเทศเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ประเทศสหรัฐอเมริกาในระดับมลรัฐบางมลรัฐมีการคัดเลือกโดยวิธีเลือกตั้ง ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมีคณะกรรมการทำหน้าที่สรรหาตัวผู้ที่เหมาะสมเสนอให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น ยังเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่ประกอบอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายมีโอกาสได้รับการคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาด้วยและในบางประเทศหรือบางมลรัฐมีการคัดเลือกและฝึกอบรมผู้พิพากษาโดยนำวิธีการต่างๆ ไปดัดแปลงใช้ตามที่เห็นเหมาะสม ส่วนการฝึกอบรมนั้นประเทศส่วนใหญ่ได้จัดการให้มีการฝึกอบรมผู้พิพากษาทุกระดับขั้นเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้พิพากษาเป็นผู้ทรงความรู้อยู่เสมอ ในขณะเดียวกันก็ให้รับรู้กฎหมายใหม่ๆ และสถานการณ์ภาวะบ้านเมือง เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เพื่อที่จะได้ใช้กฎหมายได้ทันต่อเหตุการณ์และเป็นธรรมมากขึ้น

Share

COinS