Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
แบบการเรียนของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Other Title (Parallel Title in Other Language of ETD)
Learning styles of Chulalongkorn University students
Year (A.D.)
1982
Document Type
Thesis
First Advisor
ไพฑูรย์ สินลารัตน์
Faculty/College
Graduate School (บัณฑิตวิทยาลัย)
Degree Name
ครุศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
อุดมศึกษา
DOI
10.58837/CHULA.THE.1982.280
Abstract
วัตถุประสงค์ของการวิจัย การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแบบการเรียนของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเทียบแบบการเรียนของนิสิตที่มีเพศ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระดับชั้นปี สาขาวิชาที่ต่างกัน และหาความสัมพันธ์ระหว่างแบบการเรียน 6 แบบ สมมติฐานของการวิจัย สมมุติฐานของการวิจัยครั้งนี้คือ นิสิตที่มีผลสัมฤทธิทางการเรียนต่างกัน มีแบบการเรียนแตกต่างกัน นิสิตที่ศึกษาในระดับชั้นปีต่างกัน มีแบบการเรียนแตกต่างกัน และนิสิตที่ศึกษาในสาขาวิชาต่างกันมีแบบการเรียนแตกต่างกัน วิธีดำเนินการวิจัย การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบสำรวจ กลุ่มตัวอย่างประชากรเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน 4 สาขาวิชา คือสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาสังคมศาสตร์ และสาขามนุษยศาสตร์ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบแยกประเภท (Stratified Random Sampling) จำนวน 750 คน ได้รับแบบวัดกลับคืน 677 คน คิดเป็นร้อยละ 80.26 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบวัดแบบการเรียนของนิสิตแบบมาตรส่วนประเมินค่า (Rating Scale) ซึ่งผู้วิจัยได้แปลและดัดแปลงมาจากแบบวัดแบบการเรียนของนิสิต (Student Learning Styles Questionnaire) สร้างโดยกราส์ชา และไรช์แมน (Grasha and Reichman) ใช้วัดแบบการเรียน 6 แบบคือ แบบอิสระ (Independent) แบบหลีกเลี่ยง (Avoidance) แบบร่วมมือ (Collaborative) แบบพึ่งพา (Dependent) แบบแข่งขัน (Competitive) และแบบมีส่วนร่วม (Participant) แบบวัดแบบการเรียนมีความเที่ยง .785 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการหาค่าร้อยละ (Percent) หาค่าเฉลี่ย (X̅) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าสูงสุด (Maximum) ค่าต่ำสุด (Minimum) ที-เทสท์ (t-test) วิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) การทดสอบรายคู่โดยวิธีของเชฟเฟ่ (Scheffé) ค่าสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation Coefficient) สรุปผลการวิจัย 1. นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชอบแบบการเรียน 4 แบบ คือชอบแบบการเรียนแบบร่วมมือค่อนข้างสูง ชอบแบบการเรียนแบบมีส่วนร่วม แบบพึ่งพา แบบอิสระ อยู่ในระดับปานกลาง ไม่ชอบแบบการเรียนแบบหลีกเลี่ยงและแบบแข่งขัน 2. นิสิตเพศชายและเพศหญิงมีแบบการเรียนแบบอิสระ แบบพึ่งพา แบบมีส่วนร่วมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ นิสิตเพศชายชอบแบบการเรียนแบบอิสระสูงกว่านิสิตหญิงอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 นิสิตหญิงชอบแบบการเรียนแบบพึ่งพาและแบบมีส่วนร่วมสูงกว่านิสิตชายอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และ .01 ตามลำดับ 3. นิสิตที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และนิสิตที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำมีแบบการเรียนแบบมีส่วนร่วม และแบบร่วมมือแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ นิสิตที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงชอบแบบการเรียนแบบร่วมมือและแบบมีส่วนร่วมสูงกว่านิสิตที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และ .01 ตามลำดับ 4. นิสิตที่ศึกษาในระดับชั้นปีต่างกัน มีแบบการเรียน แบบพึ่งพาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 กล่าวคือ นิสิตชั้นปีที่หนึ่ง ชอบแบบการเรียนแบบพึ่งพามากกว่าชั้นปีอื่น ๆ และนิสิตชั้นปีที่สี่ชอบแบบการเรียนแบบพึ่งพาน้อยที่สุด 5. นิสิตที่ศึกษาในสาขาวิชาต่างกัน มีแบบการเรียนแบบอิสระ แบบพึ่งพาและแบบมีส่วนร่วมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01, .05 และ .01 ตามลำดับ 6. มีความสัมพันธ์ระหว่างแบบการเรียนส่วนใหญ่ในทางบวก แต่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างต่ำ ยกเว้นแบบการเรียนแบบมีส่วนร่วมกับแบบร่วมมือ มีความสัมพันธ์กันในระดับปานกลาง แบบการเรียนแบบหลีกเลี่ยงและแบบร่วมมือ แบบการเรียนแบบหลีกเลี่ยงกับแบบมีส่วนร่วม มีความสัมพันธ์กันในทางลบ ข้อเสนอแนะ จากผลการวิจัย ผู้วิจัยได้เสนอแนะว่า ในการจัดการเรียน การสอนควรเน้นการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้นิสิตได้ทำกิจกรรมร่วมกัน การทำงานเป็นกลุ่มมากว่ารายบุคคล เปิดโอกาสให้นิสิตผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนให้มาก และควรให้ความสนใจ เอาใจใส่นิสิตชั้นปีที่หนึ่งให้มากเป็นพิเศษ เพื่อจะได้สนับสนุนให้นิสิตได้พัฒนาศักยภาพได้เต็มที่
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
คุปต์กาญจนากุล, ประโยชน์, "แบบการเรียนของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" (1982). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 16700.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/16700