Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2023
Document Type
Independent Study
First Advisor
ทัชมัย ฤกษะสุต
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2023.158
Abstract
ปัจจุบันการนำเข้าจักรยานสองล้อเข้ามาในประเทศไทยมีพิกัดศุลกากรที่ต้องสำแดงแบ่งออกเป็น 4 พิกัด คือ รถจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขัน (8712.00.10) อัตราอากรร้อยละ 1 รถจักรยานสองล้อที่ออกแบบเพื่อให้เด็กขับขี่ (8712.00.20) อัตราอากรร้อยละ 30 รถจักรยานสองล้ออื่นๆ (8712.00.30) อัตราอากรร้อยละ 30 และ อื่นๆ (8712.00.90) อัตราอากรร้อยละ 30 ซึ่งเห็นได้ว่า อัตราอากรของจักรยานชนิดที่ใช้แข่งขันมีอัตราที่ต่ำที่สุด โดยการนำเข้าจักรยานชนิดนี้เป็นที่นิยมมาก แต่ในพิกัดดังกล่าวมีการกำหนดคำนิยามของจักรยานสองล้อดังกล่าวเพียงว่า “ชนิดที่ใช้แข่งขัน" ในกฎหมายศุลกากร แต่เดิมการนำเข้าจักรยานสองล้อในประเทศไทยมีเพียงพิกัดเดียวคือจักรยานสองล้อที่ไม่มีมอเตอร์ขับเคลื่อน (8712.00) อัตราอากรร้อยละ 40 ต่อมาเกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้นำเข้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แล้วมาร้องขอต่อกระทรวงการคลัง ให้มีการพิจารณาปรับลดอากรนำเข้าของจักรยานสองล้อ เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทาง เพราะนอกจากจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดมลภาวะ รักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการจราจรติดขัด และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งผลการพิจารณาคือมีการปรับลดอากรนำเข้าจักรยานสองล้อ โดยยังคงพิกัดจักรยานอื่นๆไว้ เนื่องจากต้องการปกป้องอุตสาหกรรมจักรยานสองล้อที่ผลิตในประเทศไว้ และเพิ่มพิกัดจักรยานชนิดที่ใช้แข่งขันขึ้นอีกหนึ่งพิกัด หลังมีการเพิ่มพิกัดจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขัน (8712.00.10) แล้ว ในช่วงแรกยังไม่มีอุปสรรคในการนำเข้า เพราะเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่พิจารณายังเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการลดอากรดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่ภายหลังความเข้าใจดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ จึงเกิดการใช้ดุลยพินิจพิจารณาความเป็นจักรยานชนิดที่ใช้แข่งขันหรือไม่ จึงเป็นปัญหาขึ้นระหว่างศุลกากรกับผู้นำเข้าเรื่อยมา ต่อมาสำนักพิกัดกรมศุลกากรได้มีแนวทางการแก้ปัญหาการแบ่งแยกระหว่างพิกัดจักรยานทั่วไปกับจักรยานชนิดที่ใช้แข่งขัน โดยการขอให้สมาคมจักรยานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้พิจารณารับรองรายละเอียดจักรยานชนิดที่ใช้แข่งขัน ดังกล่าว อย่างไรก็ตามการให้สมาคมจักรยานฯ รับรองพิกัดจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันก็ยังประสบปัญหาในทางปฏิบัติอีก เพราะสมาคมฯจะยึดถือเฉพาะจักรยานชนิดที่ใช้แข่งขันในแบบของ UCIเท่านั้น แท้ที่จริงจักรยานที่มีคุณภาพดี ที่ใช้อะไหล่ อุปกรณ์ ทันสมัย เช่นเดียวกับจักรยานชนิดที่ใช้แข่งขันก็มีอยู่อีกมาก แต่กลับไม่ได้รับการรับรอง และกระบวนการการนำเข้าเกิดความล่าช้า มีความซ้ำซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง และอาจเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้นำเข้าบางรายที่ต่างก็นำเข้าจักรยานชนิดเดียวกันที่สมาคมฯไม่ยอมรับรอง ดังนั้นการนำเข้าจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันตามกฎหมายศุลกากรไทย จึงประสบปัญหา ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการตีความและใช้ดุลยพินิจ นำไปสู่การจัดเก็บอากรที่ผิดพลาด อีกทั้งการไม่มีคำนิยาม คำอธิบาย ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปัญหาการตีความที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการปรับลดอากรที่แท้จริง เอกัตศึกษาฉบับนี้ได้ใช้วิธีการศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาการไม่มีคำนิยามของจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขัน ซึ่งส่งผลต่อการนำเข้าจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันตามกฎหมายศุลกากรไทย โดยการวิเคราะห์และเปรียบเทียบระหว่างการนำเข้าจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันของประเทศไทยกับต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (ประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศฝรั่งเศส) และประเทศเวียดนาม จากการศึกษาพบว่ากฎหมายศุลกากรของประเทศเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส ซึ่งมีการนำเข้าจักรยานที่มีลักษณะและคุณภาพที่หลากหลายเป็นจำนวนมาก จะมีพิกัดศุลกากรของจักรยานสองล้อเพียงพิกัดเดียว แม้จะมีผู้ผลิตจักรยานคุณภาพสูงภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ขณะที่การนำเข้าจักรยานสองล้อตามกฎหมายศุลกากรประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีการผลิตจักรยานสองล้อทั่วไปเพื่อใช้เป็นพาหนะรวมถึงมีการนำเข้าจักรยานสองล้อจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเริ่มมีการนำเข้าจักรยานคุณภาพสูงตามตลาดที่เติบโตมากขึ้น มีการแยกพิกัดชนิดที่ใช้แข่งขัน โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้ดุลยพินิจพิจารณาในการเสียภาษีนำเข้ารถจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขัน คือ จักรยานที่มีส่วนประกอบของชุดขับเคลื่อนหรือเกียร์และมีคุณสมบัติสามารถใช้งาน เพื่อการออกกำลังกาย เพื่อการเดินทาง เพื่อการขนส่ง และเพื่อการแข่งขันได้ ถ้าหากพิจารณาแล้วไม่เข้าคุณสมบัติดังกล่าวผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในพิกัดจักรยานชนิดอื่นๆ ซึ่งการนำเข้าจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันไม่ต้องใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานใด ดังนั้นจากการศึกษาเปรียบเทียบการนำเข้าจักรยานสองล้อระหว่างประเทศเวียดนามกับประเทศไทยพบว่า แม้จะมีการแยกพิกัดจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันเหมือนกัน แต่ผู้นำเข้าไม่ต้องใช้เอกสารรับรองจากหน่วยงานอื่นๆโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจด้วยตนเอง ส่วนกรณีประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศฝรั่งเศสพบว่า มีความแตกต่างในการแยกพิกัด กล่าวคือ กรณีประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศฝรั่งเศสไม่พบปัญหาเรื่องการเสียภาษีนำเข้าจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันเนื่องจากกฎหมายมองว่าการนำเข้าจักรยานสองล้อในประเภทต่างๆไม่ได้มีความแตกต่างกัน ประกอบกับปัจจุบันการค้าขายระหว่างประเทศมีความเสรีมากยิ่งขึ้น การปกป้องอุตสาหกรรมภายในอาจพบอุปสรรคได้ ยกตัวอย่างเช่น แม้ประเทศไทยจะมีความต้องการปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ แต่ก็ไม่ได้เป็นการปกป้องที่ได้ผลชัดเจน เพราะตลาดคู่แข่งโดยตรงของผู้ผลิตภายในประเทศไทยคือประเทศจีนก็สามารถใช้สนธิสัญญาระหว่างประเทศ (FTA) นำเข้าจักรยานสองล้อในอัตราอากรร้อยละ 0 ได้ จากการศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบการนำเข้าจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันระหว่างประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทยพบว่า การใช้พิกัดและอัตราอากรเดียวในการนำเข้าจักรยานสองล้อทุกชนิดเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการเสียภาษีนำเข้าของจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันตามกฎหมายศุลกากรไทยได้ นอกจากนี้ การกำหนดคำนิยามของพิกัดจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันตามแนวทางการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ศุลกากรประเทศเวียดนามซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้ (1) ผู้เขียนเสนอให้ใช้พิกัดและอัตราอากรเดียวในการนำเข้าจักรยานสองล้อทุกชนิดตามกฎหมายศุลกากรประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศฝรั่งเศส โดยยกเลิกการแยกพิกัดรถจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขัน (8712.00.10) และรถจักรยานสองล้ออื่นๆ (8712.00.30) แล้วรวมพิกัดเป็นจักรยานสองล้อที่มีลูกปืนเป็นส่วนประกอบ (ที่ไม่มีมอเตอร์ขับเคลื่อน) และเก็บอากรนำเข้าในอัตราเดียวกันเช่นเดียวกับประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศฝรั่งเศสเพื่อขจัดปัญหาการใช้ดุลยพินิจและสะดวกต่อการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ศุลกากร รวมถึงลดการทำงานที่อาจซ้ำซ้อนของผู้นำเข้าที่ต้องขอหนังสือรับรองจากสมาคมจักรยานฯ (2) ผู้เขียนเสนอให้มีการกำหนดคำนิยามของพิกัดจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันตามการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ศุลกากรประเทศเวียดนามซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ โดยให้นิยามของจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันคือจักรยานประเภทที่มีคุณสมบัติทั่วไป มีส่วนประกอบของชุดขับเคลื่อนที่มีเกียร์ สามารถใช้งานต่างๆ เช่น เพื่อการออกกำลังกาย เพื่อการเดินทาง เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการขนส่ง และเพื่อการแข่งขันได้ด้วย หากไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวให้เสียภาษีนำเข้าในพิกัดจักรยานสองล้ออื่นๆ (8712.00.30) เช่นเดียวกับการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ศุลกากรประเทศเวียดนาม แต่ให้นำนิยามดังกล่าวมากำหนดเป็นความหมายของจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันในกฎหมายศุลกากรประเทศไทยและผ่านพิธีการศุลกากรโดยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจจะช่วยลดอุปสรรคในการนำเข้าของผู้นำเข้าและเกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษีนำเข้าของจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันตามกฎหมายศุลกากร
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
เพิ่มยงค์, สรัช, "แนวทางการกำหนดหลักการเสียภาษีนำเข้าของจักรยานสองล้อชนิดที่ใช้แข่งขันตามกฎหมายศุลกากรไทย" (2023). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 13114.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/13114