Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2023
Document Type
Independent Study
First Advisor
ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2023.156
Abstract
ใบรับรองผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) เป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจเพื่อช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 และจะช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้ในท้ายที่สุด ในปัจจุบัน หลายบริษัททั่วโลกมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม RE 100 ซึ่งมีเป้าหมายในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 100 กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก บริษัทเหล่านี้ต่างต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อนำไปเปิดเผยในรายงานด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพียงแค่ร้อยละ 13 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีข้อจำกัดในการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การซื้อ REC จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากบริษัทที่ซื้อ REC จะนำ REC ไปใช้เพื่อแสดงว่าตนเองใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนและนำไปสู่การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร นอกจากนี้ หากมีความต้องการซื้อ REC ที่มากขึ้นจะส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้าให้หันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถขอจดทะเบียน REC และขาย REC ได้ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการขายพลังงานไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังคงน้อยเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ส่งผลให้การจดทะเบียน REC อาจมีไม่เพียงพอกับความต้องการซื้อที่จะเริ่มมากขึ้นในอนาคต สาเหตุเนื่องมาจากมาตรการทางภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นยังไม่สร้างแรงจูงใจอย่างเพียงพอให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าให้หันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และยังไม่มีการกำหนดราคาคาร์บอนและออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีคาร์บอนกับองค์กรซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งการขาดสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ให้กับผู้ซื้อ REC ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคให้เกิดการซื้อ REC ให้มากขึ้นเนื่องจากหากมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็จะช่วยลดต้นทุนของผู้ซื้อ REC ได้ เอกัตศึกษาฉบับนี้จึงมุ่งศึกษามาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการซื้อขาย REC กันอย่างแพร่หลาย โดยการสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอันจะทำให้เกิดการจดทะเบียน REC ให้มากขึ้น และสนับสนุนผู้ซื้อ REC ที่จะส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อ REC ให้มีมากขึ้นผ่านการศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรการทางภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลีย อันจะทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์และดึงดูดบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ให้มาลงทุนในประเทศไทย ส่งผลดีต่อการจ้างงาน เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
ตั้งพรเจริญสุข, วรวุฒิ, "มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้อขายใบรับรองผลิตพลังงานหมุนเวียน" (2023). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 13112.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/13112