Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2023
Document Type
Independent Study
First Advisor
สุรัชดา รีคี
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2023.154
Abstract
เอกัตศึกษาฉบับนี้ ได้ทำการศึกษาผลกระทบของข้อจำกัดการกู้ยืมเงินของกองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เฉพาะในบทบัญญัติ ข้อ 14 ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (กตท.) ที่ ทจ.49/2555 เรื่อง การออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สำหรับกรณีศึกษาถึงผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของกองทรัสต์ SHREIT ในช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งทำให้หลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินสำหรับกองทรัสต์ที่บังคับใช้ในปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการกองทรัสต์ ผู้ศึกษาได้นำเอาหลักการและแนวคิดทางกฎหมาย ความเป็นมาของทรัสต์ที่มีจุดเริ่มต้นจากระบบคอมมอนลอว์ (Common law) ของประเทศอังกฤษ ความเป็นมาของทรัสต์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย รวมถึงความเป็นมาของหลักเกณฑ์ข้อจำกัดการกู้ยืมเงินของกองทรัสต์ และได้นำหลักการความรู้ทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักการบริหารความเสี่ยง เครื่องมือชี้วัดทางการเงิน หลักการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เป็นต้น เพื่อนำมาบูรณาการให้มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ใช้บังคับกับกองทรัสต์ นอกจากนี้ ผู้ศึกษาได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อจำกัดของการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดในบทที่ 3 ทั้งหมด 10 ประเทศ จาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มภูมิภาคในแถบยุโรป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง และภูมิภาคอเมริกา และได้นำหลักเกณฑ์ของต่างประเทศที่ทำการศึกษานั้น มาพิจารณาเพื่อจำแนกหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของประเทศและพบว่าหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินประกอบด้วย 4 หลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ศึกษาได้นำหลักเกณฑ์ที่จำแนกมาใช้เพื่อเป็นหลักในการวิเคราะห์ในบทที่ 4 ต่อไป ทั้งนี้ ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาของข้อจำกัดการกู้ยืมเงินของกองทรัสต์ในปัจจุบัน และวิเคราะห์ถึงต้นทุน-ผลประโยชน์ (Cost-Benefit Analysis) ของหลักเกณฑ์จากต่างประเทศแต่ละรูปแบบ เพื่อให้สามารถพิจารณาในประเด็นปัญหาและผลกระทบของหลักเกณฑ์ที่บังคับใช้ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน และนำข้อสังเกตของแต่ละหลักเกณฑ์จากต่างประเทศที่จำแนกไว้มาใช้ในการเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์ของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่แนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของกองทรัสต์ในประเทศไทย ให้มีความทันต่อยุคสมัย และเหมาะกับบริบทของประเทศไทย ตามวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะได้รับของเอกัตศึกษาฉบับนี้ ดังนั้น ในบทที่ 5 ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับบทสรุปและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย โดยผู้ศึกษาจึงได้เสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ของการกู้ยืมเงิน เนื่องจากหลักเกณฑ์ข้อจำกัดการกู้ยืมเงินของกองทรัสต์ในประเทศไทยที่มีความเข้มงวดและยังขาดความยืดหยุ่น โดยเสนอให้แก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ใน ข้อ 14 ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 49/2555 เรื่อง การออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
อัสสวุฒิ, บัณฑิต, "การศึกษาผลกระทบของข้อจำกัดการกู้ยืมเงินของกองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย" (2023). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 13110.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/13110