Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2023
Document Type
Independent Study
First Advisor
ทัชมัย ฤกษะสุต
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2023.152
Abstract
วิธีการทางบัญชีสำหรับสัญญาประกันภัยนั้นจะเปลี่ยนแปลงเมื่อมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2568 โดยมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับใหม่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้งบการเงินของบริษัทประกันภัยสามารถเปรียบเทียบกับงบการเงินของอุตสาหกรรมอื่นๆ และต่อบริษัทภายในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ และเพื่อให้มูลค่าของสัญญาประกันภัยในงบการเงินสามารถสะท้อนสภาพเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันได้ จึงนำมาสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับใหม่นี้ คือ การกำหนดให้กิจการต้องวัดมูลค่าเริ่มแรกของกลุ่มสัญญาประกันภัย และจะต้องทยอยรับรู้กำไรจากการให้บริการตามสัญญานั้นตลอดช่วงอายุของสัญญา จากการศึกษาพบว่า วิธีการทางบัญชีตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 นั้นไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรสำหรับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากตามประมวลรัษฎากรนั้นกำหนดให้การรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายต้องเป็นไปตามเกณฑ์สิทธิ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการทยอยรับรู้กำไรจากการให้บริการตามสัญญา และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทประกันรวมถึงผลขาดทุนทันทีจากสัญญาที่ทำให้เกิดขาดทุน รวมทั้งการกำหนดรายจ่ายต้องห้ามเงินสำรองเบี้ยประกันภัยที่รับรู้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ เป็นจำนวนร้อยละจากเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ (หักเบี้ยประกันภัยต่อ) แต่ตามมาตรฐานฉบับใหม่นี้ไม่มีการแสดงเบี้ยประกันภัยรับและเงินสำรองในงบการเงินอีกต่อไป รวมทั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านจากมาตรฐานฉบับปัจจุบันไปสู่มาตรฐานฉบับใหม่ กิจการต้องวัดมูลค่า ณ วันแรก สำหรับสัญญาประกันภัยที่ถืออยู่ โดยการวัดมูลค่านี้จะทำให้กิจการต้องทำรายการปรับปรุงกำไรซึ่งเคยรับรู้แล้วในอดีตผ่านกำไรสะสม และรับรู้ส่วนของกำไรของสัญญาผ่านการทยอยรับรู้ตลอดช่วงอายุของสัญญาประกันภัยต่อไปในอนาคต ดังนั้นหากจะต้องนำกำไรมาเสียภาษีซ้ำเมื่อรับรู้เป็นอีกงวดในอนาคตจากกำไรจำนวนเดิมที่เคยรับรู้ไปแล้วในอดีตนั้นจะทำให้เกิดการเสียภาษีซ้ำซ้อน ดังนั้นการแก้ไข หรือออกกฎหมายอนุบัญญัติมาเพื่อสนับสนุนหลักการทางบัญชีตามมาตรฐานฉบับใหม่เพื่อให้กิจการสามารถถือวิธีการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เป็นเกณฑ์สิทธิตามประมวลรัษฎากร และกำหนดนโยบายทางภาษีที่ชัดเจนในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อให้ผู้เสียภาษีมิต้องตีความด้วยตนเอง อันนำมาสู่ความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษีเนื่องจากรายการปรับปรุงทางภาษีที่แตกต่างกัน และทำให้ผู้เสียภาษีประหยัดต้นทุนในการทำรายการปรับปรุง เป็นผลให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้ตรงตามความเป็นจริงและเป็นไปตามหลักภาษีอากรที่ดีอีกด้วย
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
ศิริวัฒโก, นันทนัช, "แนวทางในการนำหลักการทางบัญชีตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย มาใช้กับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล" (2023). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 13108.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/13108