Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2023
Document Type
Independent Study
First Advisor
ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2023.145
Abstract
ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนคือความพร้อมของทักษะแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ปัจจุบันสถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานปัจจุบันมีทักษะไม่สอดคล้องกับทักษะที่ตลาดต้องการ (Skill Mismatch) นักลงทุนบางส่วนอาจลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศอื่นๆ ที่มีความพร้อมด้านแรงงานมากกว่า ส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง นอกจากนี้ การลงทุนได้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางมากที่สุด และปัญหาความเลื่อมล้ำเชิงพื้นที่จึงคงอยู่ต่อไป ในปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ใน 16 จังหวัด โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ระดับภูมิภาคในการลดความเหลื่อมล้ำด้วยกระจายความเจริญสู่พื้นที่โดยรอบ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ตามประกาศที่ 18/2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษมากยิ่งขึ้น และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม กรณีผู้ประกอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมด้านการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างไรก็ดี จากสถิติภาวะการส่งเสริมการลงทุนในเดือนมกราคม - กันยายน พ.ศ. 2566 พบว่ายังไม่มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่ดึงดูดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษอย่างเพียงพอ จากการศึกษาบทเรียนในการพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศสิงคโปร์ พบว่ารัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนด้วยการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ให้ดำเนินการพัฒนาแรงงานเพื่อยกระดับ ปรับเปลี่ยน และสร้างทักษะใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงการยกระดับทักษะแรงงานสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการสำหรับค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมและค่าจ้างของลูกจ้าง ตลอดจนส่งเสริมการจ้างงานคนในท้องถิ่น ดังนั้น นิสิตขอเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ และแนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนี้ (1) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับ ปรับเปลี่ยน และสร้างทักษะใหม่ สำหรับแรงงานทุกช่วงวัยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (2) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ (3) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นการจ้างงานสำหรับผู้มีภูมิลำเนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (4) แนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นการจ้างงานซึ่ง 3 มาตรการ และแนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐดังกล่าวจะสามารถจูงใจผู้ประกอบการให้ดำเนินการพัฒนาทักษะแรงงานซึ่งสอดคล้องกับความต้องการแรงงานในตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องและเกิดการกระตุ้นการจ้างงานโดยเร็ว ดึงดูดการลงทุน ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน เกิดการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ รวมถึงการมีงานที่มีคุณค่า สำหรับทุกคนตามเป้าหมายที่ 8 ของ SDG ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
จันทร์เอี่ยม, ดลพร, "มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ" (2023). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 13101.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/13101