Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2024
Document Type
Independent Study
First Advisor
ทัชมัย ฤกษะสุต
Second Advisor
อวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2024.183
Abstract
ในปัจจุบันทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่รายได้ของประชาชนไม่ได้มีการเพิ่มมากขึ้นตาม ทำให้แม้แต่การหาเช่าที่อยู่อาศัยก็เป็นเรื่องยากสำหรับผู้มีรายได้น้อยซึ่งไม่มีทุนทรัพย์มากพอ ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติมีโครงการบ้านเคหะสุขประชา โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านตั้งต้น เพื่อช่วยเหลือปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังมีข้อจำกัดด้านสถานที่ การกำหนดคุณสมบัติด้านอายุ และจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยซึ่งมีไม่มากพอรองรับความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และมาตรการอื่นที่รัฐใช้แก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ก็เป็นการสนับสนุนการซื้อมากกว่าการเช่า ซึ่งนอกจากจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นจนโอกาสที่ผู้มีรายได้น้อยจะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองยากขึ้นแล้ว ยังทำให้มีอุปสงค์การเช่าเพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปทานการเช่าไม่มีมากพอจะตอบสนอง รัฐบาลจึงควรมีมาตรการเพิ่มอุปทานการเช่าที่อยู่อาศัยเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนมากกว่าการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยอาจอาศัยความร่วมมือกับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือสถานสาธารณกุศลให้สามารถจัดหาที่อยู่อาศัยที่ราคาถูกกว่าราคาตลาดแก่ผู้มีรายได้น้อยได้อย่างเพียงพอรองรับต่อปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ การคิดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของสถานสาธารณกุศลตามประกาศกระทรวงการคลังนั้น ปัจจุบันมีการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สถานสาธารณกุศลตามมาตรา 8 (7) ของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จำกัดแต่เพียงทรัพย์สินที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์เท่านั้น ซึ่งจากการศึกษา พบว่ามีหลายกรณีที่สถานสาธารณกุศลมีการนำทรัพย์สินให้เอกชนเช่าเพื่อหาประโยชน์ แต่ทรัพย์สินส่วนนั้นจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเป็นการใช้ทรัพย์สินโดยมีการคิดค่าตอบแทน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับสภากาชาดไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสถานสาธารณกุศลภายใต้ประกาศกระทรวงการคลังเช่นกัน แม้จะใช้หาผลประโยชน์กลับได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ดีตามมาตรา 8 (4) ของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ดังนั้น หากสถานสาธารณกุศลจะมีการให้เช่าพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยโดยคิดค่าเช่าจำนวนน้อยเป็นราคาที่จับต้องได้กับผู้มีรายได้น้อย ในกรณีนี้จึงสมควรที่จะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยิ่งกว่ากรณีการใช้ทรัพย์สินเพื่อหาผลประโยชน์ของสภากาชาดไทย เพราะแม้จะเป็นการหาผลประโยชน์โดยมีการคิดค่าตอบแทน แต่ประโยชน์ที่ได้ก็มีเพียงเล็กน้อยจากการยอมคิดค่าเช่าในราคาไม่แพงให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และเป็นการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักการใช้ประโยชน์ที่สูงที่สุดและดีที่สุด (Highest and Best Use) ของภาษีทรัพย์สิน รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาการเช่าที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือสังคมตามวัตถุประสงค์ของสถานสาธารณกุศลอย่างแท้จริง ดังนั้น เอกัตศึกษาฉบับนี้จึงศึกษาการให้สิทธิประโยชน์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่สถานสาธารณกุศลซึ่งให้เช่าแก่ผู้มีรายได้น้อยของประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐออริกอนและแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและมีการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการเช่าของผู้มีรายได้น้อยในไทย รวมถึงวิเคราะห์ข้อควรพิจารณาในการปรับใช้เพื่อให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
สงวนกิจพัฒนา, จอมขวัญ, "แนวทางการให้สิทธิประโยชน์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่สถานสาธารณกุศลซึ่งให้เช่าแก่ผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย" (2024). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 13089.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/13089