Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2024
Document Type
Independent Study
First Advisor
ทัชมัย ฤกษะสุต
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2024.179
Abstract
การให้คำวินิจฉัยล่วงหน้า (Advance Ruling) ถือเป็นกลไกสำคัญในการลดอุปสรรคและข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกระบวนการศุลกากร โดยผลคำวินิจฉัยล่วงหน้าสามารถช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและทำให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินต้นทุนก่อนการดำเนินการนำเข้าสินค้าได้ และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ท่าที่ตรวจปล่อยสินค้า แต่กฎหมายศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับการให้คำวินิจฉัยล่วงหน้าของประเทศไทยนั้น ยังคงมีความจำกัดในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการให้คำวินิจฉัยล่วงหน้าของศุลกากรไทยไม่ครอบคลุมการอำนวยความสะดวก ด้านศุลกากร ปัญหาภาระการดำเนินการต่ออายุคำวินิจฉัยล่วงหน้า และปัญหาการออกผลคำวินิจฉัยล่วงหน้าในรูปแบบกระดาษ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้ปฏิบัติงานจากการศึกษาหลักการเกี่ยวกับการให้คำวินิจฉัยล่วงหน้าจากความตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement: TFA) อนุสัญญาว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกัน (International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedure) ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดยความตกลงและอนุสัญญาข้างต้นเน้นให้ประเทศภาคีจะต้องกำหนดเรื่องการจำแนกพิกัดอัตราศุลกากร และ/หรือ ถิ่นกำเนิดสินค้า และ/หรือ ราคาศุลกากร เป็นอย่างน้อย มีการกำหนดว่าระยะเวลาผูกพันของผลคำวินิจฉัยล่วงหน้าต้องมีระยะเวลาที่สมเหตุสมผลและชัดเจน โดยในความตกลง ATIGA และ RCEP กำหนดให้ผลคำวินิจฉัยล่วงหน้าต้องมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 3 ปีนับจากวันที่ออกคำวินิจฉัย และไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบในการออกผลคำวินิจฉัยล่วงหน้าเมื่อศึกษากฎหมายและแนวปฏิบัติของประเทศมาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ แล้วพบว่าขอบเขต การให้คำวินิจฉัยของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของการให้คำวินิจฉัยล่วงหน้าที่มีความหลากหลายและครอบคลุมเรื่องทางศุลกากร การไม่กำหนดระยะเวลาผูกพันของคำวินิจฉัยล่วงหน้าของสหรัฐอเมริกาและข้อกำหนดที่สามารถขอต่ออายุผลคำวินิจฉัยล่วงหน้าได้ของมาเลเซียและเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของการให้ความยืดหยุ่นของกฎหมายศุลกากรที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ และการสนับสนุนการออกผลคำวินิจฉัยล่วงหน้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้รองรับกับข้อกฎหมายเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าดังนั้นหากประเทศไทยดำเนินการปรับปรุงระบบการให้คำวินิจฉัยล่วงหน้า โดยขยายขอบเขตของการให้คำวินิจฉัยให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร และขยายระยะเวลาผลผูกพันของคำวินิจฉัยล่วงหน้าหรือเพิ่มทางเลือกให้สามารถต่ออายุผลคำวินิจฉัยลวงหน้าได้ รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกคำวินิจฉัยให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบพิธีการศุลกากรอื่น ๆ ได้ แนวทางเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับหลักการอำนวยความสะดวกทางการค้า สนับสนุนการค้าเสรีของอนุสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบศุลกากรของประเทศไทยในเวทีสากล และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในฐานะประเทศที่มีระบบการดำเนินพิธีการศุลกากรที่มีมาตรฐาน โปร่งใส สะดวก ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
ตระการภาสกุล, อารียา, "แนวทางการปรับปรุงกฎหมายศุลกากรเกี่ยวกับคำวินิจฉัยล่วงหน้าในประเทศไทย" (2024). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 13085.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/13085