Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Year (A.D.)

2024

Document Type

Independent Study

First Advisor

ทัชมัย ฤกษะสุต

Faculty/College

Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)

Degree Name

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต

Degree Level

ปริญญาโท

Degree Discipline

กฎหมายเศรษฐกิจ

DOI

10.58837/CHULA.IS.2024.178

Abstract

เอกัตศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องด้วยทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ที่นานาประเทศต่างให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เขียนทำการศึกษาโดยการวิจัยทางเอกสาร โดยการศึกษาค้นคว้า รวบรวมข้อมูลกฎหมาย และมาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตจากแหล่งที่เชื่อถือและอ้างอิงได้ เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และแนวทางในการประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทย ปัจจุบันการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนของประเทศไทยมีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ แต่อัตราการยื่นขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญากลับอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับสองปีที่ผ่านมา ภาพรวมการจัดอันดับโลกด้านปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยก็ต่ำลงติดต่อกันสองปีซ้อน สะท้อนให้เห็นว่านโยบายของภาครัฐยังไม่สามารถดึงดูดให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนตัดสินใจลงทุนพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาและนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญามีดังนี้ (1) การขาดความพร้อมด้านเงินทุนของผู้ประกอบการ (2) การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะในการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ (3) งานวิจัยและพัฒนาส่วนมากไม่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม (4) การส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญายังไม่เพียงพอ (5) ผู้ประกอบการขาดความเข้าใจทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแท้จริง และ (6) มาตราการส่งเสริมทางภาษียังไม่ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปัจจุบันมุ่งเน้นการให้สิทธิประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา และไม่ครอบคลุมช่วงที่การพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาสำเร็จและนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีปัจจุบันเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 คือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือการหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายจริง นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาและอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปีตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 จากการศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสิงคโปร์และประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงและสามารถนำงานวิจัยและพัฒนามาปรับใช้สร้างทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างโดดเด่น พบว่าทั้งสองประเทศมีนโยบายทางภาษีที่สนับสนุนครอบคลุมตั้งแต่การเริ่มต้นพัฒนาจนถึงภายหลังระยะเวลาที่ทรัพย์สินทางปัญญาถูกสร้างสำเร็จแล้ว โดยการลดอัตราภาษีสำหรับรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจต่อผู้ประกอบการในการนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ประโยชน์ในประเทศได้นอกเหนือจากการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียว ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์รายได้ที่สามารถใช้สิทธิได้จะเป็นไปตามสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการวิจัยและพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้น โดยเป็นไปตามแนวทางสากล Nexus approach ที่ประกาศโดย OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ทำให้นโยบายการส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญานี้มีความโปร่งใสและไม่เป็นภัย ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถนำสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้โดยการพิจารณาลดอัตราภาษีสำหรับรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา และการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สอดคล้องกับแนวทางสากล จะสามารถช่วยบรรเทาภาระภาษีของผู้ประกอบการและจูงใจให้เกิดการนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและนวัตกรรมในภาคธุรกิจ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

Share

COinS
 
 

To view the content in your browser, please download Adobe Reader or, alternately,
you may Download the file to your hard drive.

NOTE: The latest versions of Adobe Reader do not support viewing PDF files within Firefox on Mac OS and if you are using a modern (Intel) Mac, there is no official plugin for viewing PDF files within the browser window.