Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2024
Document Type
Independent Study
First Advisor
ณัชพล จิตติรัตน์
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2024.175
Abstract
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อาชญากรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการฟอกเงิน การหลบเลี่ยงภาษีและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายไม่สามารถปราบปรามให้หมดไปได้ เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลไม่สามารถหาผู้กระทำผิดที่อยู่เบื้องหลังหรือผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Beneficial Ownership: BO) จากการที่ผู้กระทำผิดได้อาศัยนิติบุคคลอำพรางความเป็นเจ้าของที่แท้จริงของเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นการฟอกเงิน นอกจากนี้ ตามที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific Group on Money Laundering มีพันธกรณีตามข้อบังคับที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำของ FATF ในการกำหนดมาตรการเพื่อความโปร่งใสและการเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของนิติบุคคล (คำแนะนำข้อที่ 24) โดยกำหนดให้แต่ละประเทศต้องมีมาตรการให้มั่นใจว่าข้อมูล BO มีความเพียงพอ ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวมถึงหน่วยงานที่มีอำนาจสามารถเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม จากผลประเมินปี 2560 ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในระดับ “สอดคล้องเพียงบางส่วน" เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงจากการใช้นิติบุคคลบังหน้าเพื่อการฟอกเงินและไม่มีกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลต้องเปิดเผยข้อมูล BOจากปัญหาข้างต้น ในปี 2565 สำนักงาน ปปง. จึงออกร่างพระราชบัญญัติข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง พ.ศ. .... โดยกำหนดให้นิติบุคคลต้องรายงานข้อมูล BO ต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายด้าน AML/CFT และสร้างความรับรู้แก่สาธารณะว่าบุคคลใดคือ BO นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูล BO ในร่างกฎหมายดังกล่าวมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน จึงกำหนดกลไกการตรวจสอบโดยกำหนดให้ผู้มีหน้าที่แจ้งข้อมูล BO ต้องยืนยันความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของข้อมูลต่อสำนักงาน ปปง. ผ่านหน่วยงานกำกับดูแลของนิติบุคคลนั้น ๆ ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่สิ้นปี และหากข้อมูลที่แจ้งไว้มีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้มีหน้าที่แจ้งข้อมูลต้องปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันภายใน 30 วันนับแต่ข้อมูลเปลี่ยนแปลง และให้อำนาจสำนักงาน ปปง. ในการเปิดเผยข้อมูล BO แก่ผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมตามกฎหมาย AML/CFT รวมถึงกำหนดมาตรการลงโทษกรณีไม่ให้ข้อมูล BO หรือรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 500,000 บาท อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีร่างพระราชบัญญัติข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง พ.ศ. .... แล้ว แต่ยังไม่มีกลไกการตรวจสอบและมาตรการลงโทษที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับผู้กระทำผิดที่ดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายและฟอกเงินผ่านนิติบุคคลบังหน้าย่อมไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเพื่อปิดบังธุรกรรมทางการเงินและหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ส่งผลให้ข้อมูลไม่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน และไม่สามารถนำข้อมูล BO ของนิติบุคคลไปใช้ป้องกันการฟอกเงินได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังนั้น ผู้วิจัยจึงขอเสนอให้นำหลักการตามมาตรฐานสากล เรื่อง หลักความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ รวมถึงกลไกการตรวจสอบและมาตรการลงโทษที่มีประสิทธิภาพของต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย มาปรับใช้กับประเทศไทยเพื่อให้สามารถนำข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของนิติบุคคลที่เป็นองค์กรธุรกิจตามร่างพระราชบัญญัติข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง พ.ศ. …. ไปใช้ป้องกันการฟอกเงินได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ประกอบด้วย (1) กำหนดให้ทะเบียนข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงเปิดเผยต่อสาธารณะ (2) กำหนดมาตรการตรวจสอบเพิ่มเติม ได้แก่ การรายงานความคลาดเคลื่อน (Discrepancy Reporting) และการตรวจสอบแบบอัตโนมัติผ่านระบบสี (Color Coding) (3) กำหนดให้เพิ่มบทลงโทษทางปกครอง และ (4) กำหนดให้รายงานการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมด
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
อ่อนปาน, ศุภกฤต, "แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของข้อมูลเกี่ยวกับนิติบุคคลที่เป็นองค์กรธุรกิจตามร่างพระราชบัญญัติข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง พ.ศ. …." (2024). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 13081.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/13081