Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Year (A.D.)

2024

Document Type

Independent Study

First Advisor

ทัชมัย ฤกษะสุต

Faculty/College

Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)

Degree Name

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต

Degree Level

ปริญญาโท

Degree Discipline

กฎหมายเศรษฐกิจ

DOI

10.58837/CHULA.IS.2024.173

Abstract

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้ประเภทการจ้างงานเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ โดยการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น กฎหมายจะกำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี ได้แก่ การหักค่าใช้จ่าย การหักค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสะท้อนถึงหลักการที่ว่าเงินได้ที่ได้รับมาล้วนมีต้นทุนในการได้มา และเฉพาะเงินได้หลังจากการหักค่าใช้จ่ายที่จะก่อให้เกิดความสามารถในการเสียภาษีที่แท้จริง ประมวลรัษฎากรได้กำหนดเงินได้ออกเป็น 8 ประเภทตามมาตรา 40 โดยเงินได้ประเภทการจ้างงานและการรับทำงานให้ถูกจัดอยู่ในมาตรา 40 (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน และมาตรา 40 (2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ประมวลรัษฎากรได้กำหนดเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายแบ่งตามประเภทของเงินได้ เมื่อพิจารณาเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทแล้ว พบว่าเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) ถึงมาตรา 40 (8) กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาโดยไม่ได้มีเพดานขั้นสูงจำกัดจำนวนและผู้เสียภาษียังสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควรได้อีกด้วย ส่วนมาตรา 40 (3) แม้จะมีเพดานขั้นสูงให้หักได้ไม่เกิน 100,000 บาทแต่ผู้เสียภาษีก็สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ ในขณะที่อัตราการหักค่าใช้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ 40 (2) ตามมาตรา 42 ทวิ ซึ่งล่าสุดได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 ระบุให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท หักได้เฉพาะอัตราเหมาเท่านั้นและยังจำกัดเพดานขั้นสูงที่ให้หักค่าใช้จ่ายได้ แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันในการกำหนดเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายเงินได้แต่ละประเภท นอกจากนี้ แม้ว่ามีการแก้ไขปรับปรุงอัตราการหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีความไม่เหมาะสม ขัดต่อหลักการภาษีอากรที่ดีในเรื่องความเป็นธรรม และไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ทำให้ผู้เสียภาษีที่มีเงินได้ตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไปต้องแบกรับภาระภาษีสูงเกินควร เมื่อศึกษาหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้จากค่าจ้าง เงินเดือนและจากการจ้างงานของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีการกำหนดเกณฑ์ให้หักค่าใช้จ่ายออกจากเงินได้พึงประเมินจากการจ้างงานเช่นเดียวกันกับประเทศไทย แต่ทั้งสองประเทศจะกำหนดอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบ่งเป็นขั้นบันไดตามช่วงระดับเงินได้ กล่าวคือ ผู้ที่มีเงินได้น้อยให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราที่สูง เพื่อช่วยลดภาระภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้น้อย ในขณะที่ผู้ที่มีเงินได้ระดับมากขึ้นจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีเงินได้สูงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการหักค่าใช้จ่ายมากเกินไป เกณฑ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้มีเงินได้ทุกช่วงระดับได้รับการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมและเป็นธรรม ดังนั้น ผู้ศึกษาเห็นว่าควรนำหลักเกณฑ์และอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบขั้นบันไดตามช่วงระดับเงินได้ตามกฎหมายภาษีของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้กับการกำหนดอัตราการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละระดับเงินได้มากยิ่งขึ้น

Share

COinS
 
 

To view the content in your browser, please download Adobe Reader or, alternately,
you may Download the file to your hard drive.

NOTE: The latest versions of Adobe Reader do not support viewing PDF files within Firefox on Mac OS and if you are using a modern (Intel) Mac, there is no official plugin for viewing PDF files within the browser window.