Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)
Year (A.D.)
2024
Document Type
Independent Study
First Advisor
ทัชมัย ฤกษะสุต
Faculty/College
Faculty of Law (คณะนิติศาสตร์)
Degree Name
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level
ปริญญาโท
Degree Discipline
กฎหมายเศรษฐกิจ
DOI
10.58837/CHULA.IS.2024.150
Abstract
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตการคลัง ดังจะเห็นได้จากการที่หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 63% ต่อ GDP นับว่าใกล้แตะเพดาน 70% ซึ่งถือเป็นระดับวิกฤตสำหรับการรักษาเสถียรภาพทางการคลัง นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของประเทศ คือ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องเตรียมความพร้อมด้านการคลังเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในระยะยาวโดยเฉพาะระบบบำนาญและประกันสังคม โดยปี พ.ศ. 2567 ประเทศไทยมีสัดส่วนของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ถือว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (Completed Aged Society) ในขณะที่อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงประชากรวัยทำงานในอนาคตจะลดลง และคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด(Super Aged Society) หรือมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2576 การพิจารณาปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่มีศักยภาพสูงในการเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มมีฐานภาษีกว้าง ครอบคลุมการบริโภคสินค้าและบริการในทุกระดับของเศรษฐกิจ การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแม้เพียงเล็กน้อยสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมในสัดส่วนที่มาก และถึงแม้ว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยถูกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2540ประเทศไทยได้ปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือร้อยละ 7 และรักษาระดับนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 27 ปี เมื่อพิจารณาในบริบทระหว่างประเทศ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงสูง (Upper Middle Income Countries - UMIC) และประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมักจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอนาคตจึงอาจเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญสำหรับการเสริมสร้างความมั่นคงทางการคลังของประเทศจากผลการศึกษาการปรับขึ้นอัตราภาษีการบริโภคของประเทศญี่ปุ่นในสองช่วงเวลา ได้แก่ ปี พ.ศ.2557 และ พ.ศ. 2562 ที่มีความแตกต่างในด้านโครงสร้างอัตราภาษีและมาตรการสนับสนุนอย่างชัดเจน โดยในปี พ.ศ. 2557 ประเทศญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีการบริโภคโดยยังคงอัตราเดียว (Flat Rate) ตามโครงสร้างเดิม และไม่มีการกำหนดมาตรการเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสมและเพียงพอเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย พบว่า ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างรุนแรง เนื่องจากประชาชนต้องแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีการแบ่งเบาผลกระทบอย่างเป็นระบบ ในทางกลับกัน การปรับเพิ่มอัตราภาษีการบริโภคของประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2562 มีการออกแบบโครงสร้างภาษีที่ยืดหยุ่นมากขึ้นโดยใช้อัตราภาษีสองระดับ (Dual Tax Rate) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำอัตราภาษีที่ลดลง (Reduced Tax Rate) มาใช้กับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เตรียมมาตรการเปลี่ยนผ่านทั้งแบบถาวรและชั่วคราว เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชน และเพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เคยเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นภาษีในปี พ.ศ.2557 ทำให้การปรับอัตราภาษีการบริโภคในปี พ.ศ. 2562 มีความราบรื่นมากขึ้น ช่วยลดกระแสต่อต้านจากสาธารณชน และบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการดำเนินนโยบายในครั้งนี้ผู้ศึกษาเห็นว่า ประเทศไทยสามารถพิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มโดยนำแนวทางของประเทศญี่ปุ่นมาเป็นแบบอย่าง ผ่านการใช้อัตราภาษีสองระดับ (Dual Tax Rate) และจัดให้มีมาตรการเปลี่ยนผ่านที่เพียงพอและเหมาะสมสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-No Derivative Works 4.0 International License.
Recommended Citation
ศิริสัจจวัฒน์, นวลจันทร์, "แนวทางในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 2 อัตรา" (2024). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD). 13056.
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/13056